เมื่อวันที่ 25 เม.ย. นางแอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ว่าการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของตน เป็นช่วงที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะพัฒนาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ซึ่งตนประทับใจที่มีผู้สมัคร ส.ส. จากหลายๆ พรรคการเมืองเข้าร่วมในเวทีวาระสิทธิมนุษยชนกับการเลือกตั้ง โดยร่วมดีเบตในหัวข้อ “วาทะผู้นำ วาระสิทธิมุษยชน” ซึ่งจัดขึ้นโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กรภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา นับเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับผู้นำทางการเมือง และหวังว่าจะช่วยให้เกิดการทบทวนถึงพันธกิจร่วมกัน เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังได้พบกับเด็กและเยาวชนที่มีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วง เพราะเชื่อมั่นและต้องการสร้างประเทศที่แข็งแรงและเป็นธรรม แต่กลับมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง ทำให้เรากังวลอย่างมาก และคิดว่าควรเป็นข้อกังวลที่สำคัญของผู้นำในประเทศไทยเช่นกัน เนื่องจากมีเด็กหลายร้อยคนถูกปราบปราม ดำเนินคดีอาญาจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ หลายคนมีประวัติอาชญากรติดตัวแค่อายุ 15 ปี ถูกคุมตัวในสถานพินิจหลายสัปดาห์ ดังนั้นสถานการณ์เช่นนี้จะต้องถูกเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาเราได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในการยุติการข่มขู่เด็กผู้ชุมนุมประท้วง ยุติการสอดแนมข้อมูลของพวกเขา รวมถึงต้องยุติการดำเนินคดีต่อเด็กผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ และให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและนโยบาย ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และการชุมนุมประท้วงโดยสงบได้อย่างเต็มที่

นางแอกเนส กล่าวต่อไปว่า เรายังได้แสดงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายประการระหว่างการเดินทางมาครั้งนี้ รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุระหว่างการชุมนุมประท้วง การควบคุมตัวผู้ชุมนุมประท้วงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยพลการ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยประกาศใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่น่าเสียใจที่มีมติให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายไปจนถึงเดือน ต.ค. เราไม่อาจอ้างปัญหาทางเทคนิคเพื่อชะลอการดำเนินงานตามพันธกิจเช่นนี้ได้ กฎหมายต้องถูกบังคับใช้โดยไม่ล่าช้า เรายังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย โดยเฉพาะผู้ที่มาจากประเทศเมียนมา ที่หวาดกลัวว่าจะถูกส่งตัวกลับหรือถูกลักพาตัว ซึ่งทางการไทยต้องไม่ส่งตัวกลับ หรือส่งไปประเทศอื่น

“เราขอเรียกร้องให้ทางการไทย ประกาศพันธกิจที่จะให้การสนับสนุนที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต่อบุคคลที่หลบหนีจากการปราบปรามทั่วทั้งภูมิภาค รวมทั้งที่มาจากเมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และลาว ประเทศไทยสามารถและควรเป็นต้นแบบของผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น” นางแอกเนส กล่าว