ภายหลังจากปิดการโหวตโพล ครั้งที่ 2 ชี้อนาคตการเมืองไทย ที่ทางสื่อ 2 สำนักใหญ่ ได้ร่วมกันจัดทำ โพลเลือกตั้ง 66 “เดลินิวส์ X มติชน” ครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อสะท้อนผลเลือกตั้ง 2566 เริ่มโหวตวันที่ 22-28 เม.ย. รวมระยะเวลา 7 วัน ทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเดลินิวส์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ https://www.dailynews.co.th/election-2566/poll รวมถึงเว็บไซต์ในเครือมติชน นอกจากนี้ยังโหวตผ่าน ทาง “คิวอาร์โค้ด” ส่องสแกนในหนังสือพิมพ์ได้ด้วย มีประเด็นคำถาม 4 ข้อ 1.ท่านจะเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง 2566 นี้, 2.ท่านจะเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) พรรคใด โดยทั้งสองข้อแรก (คำตอบคัดจากรายชื่อ 10 พรรคการเมืองที่ได้รับการโหวตสูงสุดสิบอันดับแรกจากผลโพลรอบแรก), 3.ท่านจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี (คำตอบจากรายชื่อจาก 10 แคนดิเดตนายกฯ ที่ได้รับการโหวตสูงสุดสิบอันดับแรกจากโพลรอบแรก) และ 4.ส.ว. ควรโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดหรือไม่

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันธมิตรทางวิชาการที่เข้ามาร่วมวิเคราะห์ผลโพลสะท้อนอนาคตการเมืองไทย วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ผศ.ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล, อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์, นายปรีชา โพธิ รองคณบดีฯ และ นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดี ในฐานะหัวหน้าทีมวิเคราะห์ผลโพลเลือกตั้ง “เดลินิวส์ X มติชน” ครั้งที่ 2 สำรวจระหว่างวันที่ 22-28 เม.ย. 66

ทีมนักวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ​ เปิดเผยว่า สำหรับคำถามเลือก ส.ส.เขตพรรคใด ปรากฏว่า 3 อันดับแรกของคนกรุงเทพฯ ได้แก่ พรรคก้าวไกล 51.71% พรรคเพื่อไทย 29.30% และ พรรครวมไทยสร้างชาติ 7.28% โดยสัดส่วนของ ส.ส.เขตพรรคก้าวไกล มีมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.เขตจากทุกพรรครวมกัน อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นสนามเลือกตั้งของ 3 พรรคใหญ่ดังกล่าว แต่หากนำสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมารวมกัน จะมีสูงถึง 81.01% เช่นเดียวกับคนต่างจังหวัดโหวตให้ ส.ส.เขต 3 อันดับแรก ได้แก่ พรรคก้าวไกล 46.55% พรรคเพื่อไทย 38.26% และ พรรครวมไทยสร้างชาติ 5.17% โดยสัดส่วน ส.ส.เขตของสองพรรคแรก รวมกันจะมีมากถึง 84.81% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น่ากังวลสำหรับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เช่นเดียวกับผลโพลในส่วนปาร์ตี้ลิสต์พรรคการเมืองของทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นไปในทางเดียวกัน คือ 1.พรรคก้าวไกล 2.พรรคเพื่อไทย และ 3.พรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งนี้ ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคอันดับ 1 และ 2 ในกรุงเทพฯ รวมกันแล้วอยู่ที่ 80.77% และในต่างจังหวัดรวมกันแล้วอยู่ที่ 85.16%

“หากพิจารณาเป็นรายภูมิภาคจะพบว่า ส.ส.เขตพรรคก้าวไกล มีสัดส่วนมากที่สุดในภาคกลาง และ ภาคใต้ ในขณะที่ ส.ส.เขตพรรคเพื่อไทย มีสัดส่วนมากที่สุดในภาคเหนือและภาคอีสาน ตามมาด้วย ส.ส.เขตพรรครวมไทยสร้างชาติ อยู่อันดับที่ 3 ในทุกภูมิภาค แต่หากดูผลโพลในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ จะพบว่าพรรคก้าวไกลมีสัดส่วนมากที่สุดในทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคอีสานที่ปาร์ตี้ลิสต์พรรคเพื่อไทยมีสัดส่วนมากที่สุด และปาร์ตี้ลิสต์ของพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นอันดับที่ 3 ในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ ทีมนักวิชาการเคยตั้งข้อสังเกตต่อความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีเพียง 6.01% จากผลโพลครั้งที่ 1 และผลโพลครั้งที่ 2 นี้แสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้มีสัดส่วนลดลง คือ ส.ส.เขต 4.24% และปาร์ตี้ลิสต์ 3.25% ซึ่งน้อยกว่าสัดส่วนรวมของ พรรครวมไทยสร้างชาติ (ส.ส.เขต 5.88% และ ปาร์ตี้ลิสต์ 9.05%) และ พรรคพลังประชารัฐ (ส.ส.เขต 2.64% และ ปาร์ตี้ลิสต์ 5.42%) หรือ ห่างกันมากกว่า 3 เท่าตัว” ทีมนักวิชาการ ระบุ

นอกจากนี้ความน่าสนใจของโพล “เดลินิวส์ X มติชน เลือกตั้ง 66 ครั้งที่ 2” ก็คือ กลุ่มเกษตรกรโหวตให้ทั้ง ส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์จากพรรคเพื่อไทยมากที่สุด 45.48% และ 43.51% ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มรับจ้างทั่วไปโหวตให้ ส.ส.เขตพรรคก้าวไกล 40.28% และปาร์ตี้ลิสต์พรรคก้าวไกล 42.13% แต่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนใด กลุ่มเกษตรกรและรับจ้างทั่วไปโหวตให้ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 2.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ 3.นายเศรษฐา ทวีสิน ในขณะที่กลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ โหวตให้ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 41.55% 2.นายเศรษฐา ทวีสิน 20.24% 3.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 20.21% และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่อันดับ 4 ที่ 7.60% ลดลงจากเดิมอันดับ 3 ที่ 17.87% ตอกย้ำว่ากลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องการความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผู้นำที่เป็นคนรุ่นใหม่

โพลครั้งที่ 2 แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ทุกกลุ่มรายได้โหวตให้ ส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์ จากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย โดยมีสัดส่วนรวมกันแล้วมากกว่า 80% ของทุกกลุ่มตัวอย่าง และโหวตให้ นายพิธา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด 3 ลำดับแรก แสดงถึงความนิยมต่อนโยบายการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของทั้งสองพรรคนี้

โดยสรุปแล้ว “เดลินิวส์ X มติชน เลือกตั้ง 66 ครั้งที่ 2” แสดงให้เห็นทิศทางการเมืองที่มีต่อ ส.ส.เขต จาก “พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม” คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล มีสัดส่วนรวมกันที่ 83.75% เปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส.เขตจาก “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 10.64% หรือ ห่างกันถึงเกือบ 8 เท่าตัว และประชาชนที่ร่วมตอบแบบสอบถามเป็นกลุ่มคนที่ตั้งใจเข้ามาโหวต เพื่อแสดงความต้องการของตน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ที่มีสัดส่วนรวมกันที่ 84.95% จากพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคเสรีรวมไทย ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิม มีสัดส่วนที่ 10.26% จากพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย และหากจะทดลองแปลงตัวเลขเหล่านี้เป็นสัดส่วนจำนวน ส.ส.เขต จะพบว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมจะได้ ส.ส.เขต 335 คน และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม จะได้ ส.ส.เขต 42 คน จากทั้งหมด 400 คน ส่วนที่เหลืออีก 23 คน เป็นสัดส่วนของพรรคอื่นๆ และผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใด ทั้งนี้ หากคำนวณสัดส่วนของปาร์ตี้ลิสต์จะพบว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมจะได้มากถึง 84 ที่นั่ง จาก 100 ที่นั่ง

หากผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 66 เป็นไปตามผลโพล “เดลินิวส์ X มติชน” ก็จะทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม และพรรคอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะได้ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรรวมกันแบบแลนด์สไลด์ เป็นไปตามคำถามข้อที่ 4 ของผลโพล 82.54% ที่ต้องการให้ 250 ส.ว. โหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด ตามเจตจำนงของประชาชนต่อไป.