เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.และแคดดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น โดยนายเรืองไกล กล่าวว่า ตนใช้เวลาตรวจสอบเรื่องนี้ 5 วัน เสียเงินไปหลายพันบาท เพื่อคัดเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หลังจากได้ข้อมูลมาจากบุคคล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัท ไอทีวี แล้วก็ได้พบหลักฐานตามเอกสาร บมจ.6 ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าส่งมา ว่า ณ วันที่ 27 เม.ย. 65 นายพิธา ยังคงเป็นผู้มีชื่อถือหุ้นจำนวนดังกล่าวอยู่ และบริษัทไอทีวี เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อ อีกทั้งยังมีรายงานการประชุมล่าสุด ที่มีผู้ถือหุ้นถามผู้บริหารว่า บริษัทไอทีวี เป็นสื่อหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารก็ได้ตอบว่าเป็นบริษัทสื่อฯ จึงจำเป็นต้องร้องให้ กกต.ตรวจสอบ ส่วนที่นายพิธาออกมาระบุว่า ได้ชี้แจงต่อ ป.ป.ช.นั้นก็ถือเป็นการยอมรับ แบบแบ่งรับแบ่งสู้ เป็นเรื่องที่ดี แม้จะระบุว่าหุ้นดังกล่าวไม่ใช้ของตนเอง เป็นกองมรดก ส่วนตัวเองเป็นผู้จัดการเท่านั้น แต่อยากให้ดูรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) เขียนเพียงว่าผู้จะลงสมัคร ส.ส.ต้องไม่เป็นผู้ถือครองหุ้นสื่อเท่านั้น

ส่วนที่นายพิธา อ้างว่าได้หารือและชี้แจงกับ ป.ป.ช.แล้ว นั้นเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติการลงสมัคร ส.ส. สิ่งที่นายพิธาอ้างน่าจะเป็นเรื่องการถือครองหุ้นและแจ้งบัญชีทรัพย์สิน โดยตนได้ไปตรวจสอบการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของนายพิธาระหว่างดำรงตำแหน่ง ส.ส. ก็ไม่พบว่ามีการแจ้งหุ้นดังกล่าวต่อ ป.ป.ช. ดังนั้น ช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนจึงได้ไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบว่า นายพิธาแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จหรือไม่

“เรื่องนี้อยากให้ กกต.ดำเนินการโดยเร็ว เพราะผลที่ออกมาก่อนและหลังเลือกตั้งจะแตกต่างกัน ถ้าทำเสร็จหลังการเลือกตั้งต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเหมือนกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ศาลวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติเนื่องจากถือหุ้นวีลัค มีเดีย จะทำให้ความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ไม่มีผลถึงเรื่องยุบพรรค” นายเรืองไกร กล่าวและว่า เรื่องนี้จะเป็นความผิดเฉพาะตัว แต่ถ้าศาลตัดสินเรื่องใหญ่มาก ซึ่งตนมีข้อกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง แต่ขอรอให้ศาลตัดสินก่อน แต่บอกได้ว่าจะมีผลกระทบมหาศาล

เมื่อถามว่าที่มีคนมองว่ามียื่นเรื่องนี้เพื่อสกัดนายพิธา หรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า นายพิธาก็โพสต์แล้วเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ก็แล้วแต่ใครจะมอง แต่ตนพบเหตุ ก็มาร้อง ส่วนอีกด้านหนึ่งจะได้ประโยชน์หรือไม่ ตนไม่เกี่ยว และไม่กังวลว่าเพื่อไทยจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้

เมื่อถามว่า ถ้าหากนายพิธาขาดคุณสมบัติจากกรณีดังกล่าว จะมีผลอย่างไร เพราะได้ถือหุ้นนี้มาก่อนการเลือกตั้งปี 62 นายเรืองไกรกล่าวว่าก็จะเหมือนกันกรณี นายสิระ เจนจาคะ ที่จะต้องเลือกคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งอยากให้ กกต.มีหนังสือสอบถามไปยังตลาดหลักทรัพย์ เพราะกรณีนี้เป็นลักษณะต้องห้ามเฉพาะของผู้สมัคร ส.ส. ไม่ได้เกี่ยวกับคู่สมรส ส่วนที่ก่อนหน้านี้ กกต.ตรวจสอบไม่พบชื่อนายพิธา ตนไม่ทราบ

วันเดียวกันนี้ นายเรืองไกร ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ กกต. ตรวจสอบ นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และนายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ กระทำการเข้าข่ายฐานเป็นผู้ใด กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่นหรือบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ และการกระทำนั้นมีผลให้บัตรออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในหน่วยเลือกตั้งต่างๆ เป็นบัตรเสียหรือไม่ และ กกต.จะสามารถสั่งมิให้นับเป็นคะแนนในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ และทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย มีเหตุอันควรสงสัยว่ามิได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรมหรือไม่ การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายหลอกลวงเพื่อให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองหรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า ได้ตรวจสอบการโพสต์เฟซบุ๊กของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ทั้งนายเศษฐา ทวีสิน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายชัยเกษม นิติศิริ ซึ่งทั้ง 3 คน เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย พบว่ามีการขึ้นรูปโปรไฟล์ของตนเองพร้อมหมายเลขพรรค ถือเป็นเรื่องปกติ ตนไม่ได้ติดใจ แต่กรณีของนายสุรพงษ์ และนายณัฐวุฒิ กลับมีการขึ้นรูปในลักษณะเดียวกันกับบุคคลทั้ง 3 ทั้งที่ไม่ได้เป็น 100 รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค และไม่ได้เป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ จึงมองว่ามีเจตนาทำให้คนเข้าใจผิดในคะแนนนิยมของพรรค เข่าข่ายขัด พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73 (5) ประกอบมาตรา 56 และ 132 และ 137 หรือไม่

ส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อกกต.ในการรายงานข่าวการจัดประชันนโยบายของพรรคการเมือง หรือการทำสำรวจความคิดเห็นของสื่อมวลชนบางสำนัก ที่ไม่มีความเท่าเทียมเสมอภาค ทำให้เกิดข้อได้เปรียบกับพรรคการเมืองบางพรรค 

นายศรีสุวรรณ กล่าว่า นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการยุบสภาตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. เป็นต้นมาได้เฝ้าสังเกตการทำงานของสื่อมวลชน ซึ่งพบว่ามีสื่อมวลชนหลายสำนักรายงานข่าว รายงานกิจกรรมการหาเสียงของ ส.ส. และพรรคการเมือง อาจจะไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 แก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายเขียนว่าห้ามผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใดใช้สื่อมวลชน วิทยุ โทรทัศน์ หาเสียงเว้นแต่เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ซึ่ง กกต.กำหนดว่าการหาเสียง การรายงานข่าวของสื่อมวลชนนั้นจะต้องเสนอภาคเป็นกลาง และเที่ยงตรง 

แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีสื่อมวลชนบางสำนัก โดยเฉพาะทีวี มักจะเชิญผู้สมัครรับเลือกตั้ง เชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาออกทีวี โดยเฉพาะการจัดดีเบต ซึ่งในการจัดหลายๆ ครั้งสังเกตว่าส่วนใหญ่จะเชิญพรรคการเมืองมาไม่ถึง 10 พรรคการเมือง ส่วนใหญ่เป็นพรรคเดิมๆ ซ้ำๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชาติ พรรคไทยภักดี พรรคไทยสร้างไทย เป็นต้น ไม่เกิน 10 พรรค ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง 70 พรรคการเมือง มีผู้สมัคร 4,781 คน 

ดังนั้น ถือเป็นการลำเอียง ไม่เสมอภาค ไม่เที่ยงธรรมในการรายงานข่าว และสื่อบางช่องรายงานข่าวผู้สมัครบางคนทุกวัน โดยเฉพาะสื่อที่เกี่ยวพัน อาจจะมีภรรยาไปลงเลือกตั้ง ส่วนตัวคิดว่าการเสนอข่าวแบบนี้ทำให้เกิดผลได้ ผลเสียต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งบาง คนบางพรรค จึงมาร้องให้ กกต.ได้บังคับใช้กฎหมาย หรือสั่งการไปยังสำนักสื่อต่างๆ ว่า ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ชี้นำ ไม่ใช่ลำเอียง หรือรายงานข่าวเฉพาะคนที่ตัวเองสนใจ เพราะกฎหมายก็คือกฎหมายต้องยึดถือความเสมอภาค ความเป็นกลาง และเที่ยงตรง จึงจำเป็นต้องายื่นให้ กกต. รับรู้และดำเนินการตามประเด็นที่กฎหมายกำหนด หาก กกต.เพิกเฉยหลังเลือกตั้งก็จะมีประเด็นนำสู่การฟ้องร้อง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้