เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า วันนี้ตนมายื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อ กกต.ให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อบริษัทไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย ตารางชื่อของ นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ และนายพิธา ถือหุ้นบริษัทไอทีวี ปี 49-66 รวมทั้งสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น บมจ.ไอทีวี ปี 49-66 (บางส่วน) สำเนาวัตถุประสงค์ของบมจ.ไอทีวี ตารางรายได้รวมของ บมจ.ไอทีวี ปี 64-65 สำเนารายได้รวมของปี 64-65 (ขาดปี 55) และสำเนา พ.ร.บ.บริษัทจำกัดมหาชน (บางส่วน) ทั้งนี้มองว่าเรื่องดังกล่าวต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน จึงขอให้ศาลใช้ระบบไต่สวนเพื่อเรียกพยานหลักฐานเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยด้วย

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า หาก กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ยังตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธา ไม่แล้วเสร็จ อยากขอให้นักการเมืองที่มีสถานภาพเป็น ส.ส. ร่วมกันเข้าชื่อตามกฎหมาย เสนอเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ยื่นร้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกรณีที่ยื่นตรวจสอบ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อตรวจสอบการถือหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ช่วงก่อนยุบสภา จนถึงต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น นี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำได้คู่ขนานกับ กกต. และถ้านายพิธาเป็นนายกฯ แล้ว ก็จะขอให้ ส.ว. 250 คน ใช้สิทธิยื่นร้องสอบคุณสมบัตินายกฯ ตามรัฐธรรมนูญได้เช่นเดียวกัน ยืนยันว่า ข้อเสนอเป็นไปตามหลักข้อเท็จจริง ไม่มีอภินิหาร หรือนิติสงครามทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ตนยังยื่นต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ 8 พรรคการเมืองที่ หัวหน้าพรรคร่วมกันลงนาม MOU ตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นการยอมรับเงื่อนไขการทำกิจกรรมทางการเมือง เข้าข่ายผิดมาตรา 28 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งห้ามพรรคการเมืองไม่ให้กระทำการที่จะให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกมาครอบงำ ที่ผ่านมาทำเนียมปฏิบัติการตั้งรัฐบาลส่วนใหญ่แค่จับไม้จับมือและแถลงข่าว ไม่มีการเซ็นเอกสารอะไร ฉะนั้น ตนจึงย้อนไปนึกถึงลงนาม MOU สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายนพดล ปัทมะ จะมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ซึ่งเรื่องเซ็น MOU อาจจะนำสู่การยุบทั้ง 8 พรรค เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับเงื่อนไข ทั้งที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคซึ่งกันและกันเข้ามาครอบงำ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่เกี่ยวว่าจะเหตุให้ ส.ว.โหวตหรือไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ หรือไม่

เมื่อถามว่า การร้องเรียนกรณีนายพิธา มีเจตนาเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า มีเหตุตรวจสอบตนก็ยื่นร้อง ไม่มีเหตุแล้วมาปั้นพยานหลักฐานเท็จนั้นไม่ใช่ การออกมาทำหน้าที่ถึงทำในฐานะนอกสภาตนก็ทำมาตลอด 10 กว่าปี เรื่องร้องเรียนกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตนร้องมากที่สุด ทั้งเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี การถวายสัตย์ฯ และเรื่องบ้านพัก รองลงมาคือการร้อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยเฉพาะเรื่องนาฬิกายืมเพื่อน ซึ่งตนได้ร้องย้ำๆ มาตลอด ถ้าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นรักษาการนายกฯ ไปทำผิดตนก็ร้อง หรือนายวิษณุ เครืองาม ทำผิดตนก็ร้อง ถ้ามีเหตุต้องร้อง

วันเดียวกันนี้ นายเรืองไกร ยังได้เข้าให้ถ้อยคำต่อ กกต.ที่เคยยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี ผอ.เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย กรณีขึ้นรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นรูปโลโก้พร้อมเบอร์พรรคเพื่อไทย เข้าข่ายจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน หรือเข้าข่ายหลอกหลวงให้หลงผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคหรือไม่ เข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73(5) ประกอบมาตรา 56 มาตรา 132 และมาตรา 137 หรือไม่.