เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ควรเป็นผู้ที่มาจากพรรคที่คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง หรือจากพรรคร่วมรัฐบาล ว่าในอดีตส่วนใหญ่จะเป็นคนของรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ขับเคลื่อน และหลายอย่างต้องผ่านสภา เพื่อควบคุมการผลักดันกฎหมายของรัฐบาล แต่โดยจรรยาบรรณและรัฐธรรมนูญ กำหนดว่ารัฐสภาต้องวางตัวเป็นกลางในทางหลักการ แต่ในทางปฏิบัติต้องเป็นคนของรัฐบาล ส่วนตัวมองว่าผู้ที่ทำหน้าที่บนบัลลังก์ควรจะเหมือนคอนดักเตอร์ การควบคุมอยู่ที่ไม้ในมือ หากผู้ฟังฟังจนจบได้ดี ก็ประทับใจ ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็เช่นกัน หากควบคุมสมาชิกให้บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ ควรมีความเป็นอิสระ ขาดจากพรรคการเมือง และโดยมารยาทจะไม่ไปเข้าร่วมประชุมกับพรรค

เมื่อถามว่า การควบคุมการประชุมจะต้องใช้ประสบการณ์หรือไม่ นายอุทัย กล่าวว่าส่วนตัวมองว่า สมัยที่ตนทำหน้าที่ ก็เป็น ส.ส. ได้ 2 สมัย ก็มาทำหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นับว่าตนเป็นผู้แทนใหม่เช่นกัน ส่วนจะต้องแม่นข้อบังคับการประชุมด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่าไม่มีความจำเป็น เพราะคุณภาพของ ส.ส. สมัยนี้ไม่ได้ขี่ควายเข้าสภาแล้ว เป็นผู้มีการศึกษา แค่ข้อบังคับการประชุมไม่เกิน 100 หน้า เชื่อว่า สมาชิกก็สามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ ส่วนพรรคจะเลือกใครมาทำหน้าที่ก็ย่อมเลือกคนที่เคยอยู่ในสภาอยู่แล้ว ผ่านตาในเรื่องของการประชุม และปัญหาระหว่างการประชุม สำคัญอยู่ที่ใจต้องวางตนเป็นผู้ใหญ่

“ตำแหน่งทางการเมืองถือเป็นตำแหน่งใหญ่ คนที่อยากเป็นใหญ่หรือเป็นใหญ่แล้วก็ต้องใหญ่ให้เป็น ถ้าเป็นใหญ่และใหญ่เป็น ก็ย่อมไม่มีปัญหา ตำแหน่งประธานสภาฯ ถ้านึกถึง ผมก็เป็นเหมือนคอนดักเตอร์ จะทำให้การประชุมเกิดความสนุกสนานได้ด้วย ไม่ให้มีการโดดร่มของ ส.ส. หรือทำให้ ส.ส. เบื่อหน่ายการประชุม รวมถึงประชาชนที่ติดตามจะรับผลงานได้ และมีท่วงทีวาจาที่น่าฟัง ซึ่ง ส.ส. สมัยใหม่มีความเก่ง ขยันค้นหาข้อมูล ไม่จำเป็นต้องเอาคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน ถ้าค้นหาข้อมูลได้เยอะกว่า ก็มีประสบการณ์เหมือนกัน”

นายอุทัย กล่าวว่า ตนมองว่าเวลานี้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปในลักษณะรัฐบาลผสม ผู้ที่จะมาชิงชัยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ควรจะเป็นคนที่ตกลงกันในพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ส่วนตัวไม่อยากให้กังวลในเรื่องของอายุผู้มาทำหน้าที่ เพราะคนอายุน้อยทำตัวเป็นผู้ใหญ่ก็มี และอยากฝากถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรรุ่นต่อไป อย่าคิดว่าบ้านเมืองต้องเป็นของเรา แต่บ้านเมืองเป็นของประชาชน ยึดประชาชนเป็นหลัก ฟังเสียงข้างมากที่มาจากประชาชน

ทางด้าน นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรคก้าวไกลต้องกอดเก้าอี้ประธานสภาฯ ไว้ เพราะมีผลต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่ามันปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องประธานสภาฯ มีส่วนสำคัญจริงๆ ในการเลือกนายกฯ แต่ตนไม่อยากให้มองแค่ส่วนนั้นส่วนเดียว แต่อยากให้มองเรื่องการทำงานหลายๆ อย่าง ที่เราคิดว่าตำแหน่งประธานสภาฯ มีความสำคัญในการที่จะผลักดันให้สังคมไปสู่ความก้าวหน้า โดยเฉพาะในเรื่องการผลักดันกฎหมายต่างๆ   

เมื่อถามว่ามีการมองว่าพรรคก้าวไกลไม่ไว้ใจพรรคเพื่อไทย หากพรรคก้าวไกลเพลี่ยงพล้ำในเรื่องตำแหน่งนายกฯ นายรังสิมันต์ กล่าวว่าเป็นเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ ตนตอบแทนทุกคนไม่ได้ แต่ให้น้ำหนักในเรื่องการทำงาน รวมถึงเรื่องของจารีตประเพณีที่พรรคการเมืองอันดับหนึ่งจะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ เราเป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่ง ตนคิดว่าเราก็ควรจะได้ ตนไม่อยากใช้คำว่าเรากอดมันไว้ เราแค่ปฏิบัติตามกระบวนการที่ทำกันมาของนักการเมืองในอดีตแค่นั้นเอง ในทางตรงกันข้าม ทำไมไม่ถามกลับว่า ทำไมเราต้องเลิกประเพณีนี้ ทำไมเราต้องให้คนอื่น ในเมื่อจริงๆ แล้วที่ผ่านมามันก็เป็นแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ทราบว่าเพื่อไทยอยากได้หรือไม่ เพราะไม่เคยคุยด้วยตัวเอง ต้องถามนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ตนยังไม่เคยเห็นคำสัมภาษณ์ที่ออกจากหัวหน้าพรรคโดยตรง  

“เรายืนยันว่าการทำหน้าที่ประธานสภาฯ ของพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่ให้ดี โดยจารีตประเพณีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่จารีตประเพณีที่เสียหายอะไร มันก็ฟังเข้าใจได้ คุณเป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่ง คุณก็ได้ตำแหน่งบริหารและประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแล้วทำไมเราต้องทำตามประเพณีที่ลุงเขาสร้างขึ้น ในทางกลับกันเราก็ไม่ได้รวบหมด รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่งก็เป็นของพรรคการเมืองที่ได้เสียงลำดับถัดมา ก็คือเพื่อไทย ถัดมาอันดับสามก็น่าจะเป็นประชาชาติ ก็เท่านั้นเอง สุดท้ายทั้ง 3 คน ก็ต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้การทำงานในสภามันราบรื่นและดีที่สุด” นายรังสิมันต์ กล่าว