สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงซันติอาโก ประเทศชิลี เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ว่า นักวิทยาศาสตร์ขนานนามไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ว่า “กอนโคเคน นานอย” (Gonkoken nanoi) โดยมันมีความยาวถึง 4 เมตร หนักราว 1 ตัน และมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 72 ล้านปีก่อน ทางตอนใต้สุดของชิลี ซึ่งปัจจุบันคือ ภูมิภาคปาตาโกเนีย

ภาพถ่ายโดยทีมนักวิจัขของมหาวิทยาลัยชิลี แสดงหนึ่งในชิ้นส่วนกระดูกของไดโนเสาร์ปากเป็ด ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในซีกโลกใต้

“พวกมันเป็นไดโนเสาร์ที่มีรูปร่างเพรียวบาง ซึ่งสามารถสับเปลี่ยนการยืนสองขา กับการยืนสี่ขาได้อย่างง่ายดาย เพื่อกินพืชซึ่งอยู่บนที่สูง และบนพื้นดิน” นายอเล็กซานเดอร์ วาร์กัส ผู้อำนวยการเครือข่ายบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัยชิลี และหนึ่งในผู้เขียนงานศึกษาที่เผยแพร่โดยวารสาร Science Advances กล่าว

การค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคปาตาโกเนียของชิลี เป็นที่หลบภัยของไดโนเสาร์วงศ์ “ฮาโดรซอร์” สายพันธุ์เก่าแก่ ซึ่งพวกมันเป็นไดโนเสาร์ปากเป็ดชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปในทวีปอเมริกาเหนือ, เอเชีย และยุโรปในยุคครีเทเชียส เมื่อ 145-66 ล้านปีก่อน

“การปรากฏตัวของพวกมันในดินแดนทางตอนใต้อันห่างไกล สร้างความประหลาดใจให้กับบรรดานักวิทยาศาสตร์ ซึ่งพวกเขาจะต้องทำความเข้าว่า บรรพบุรุษของพวกมันไปที่นั่นได้อย่างไร” วาร์กัส กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กอนโคเคน นานอย ซึ่งเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ที่ 5 ที่มีการพบในชิลี ถูกพบเมื่อปี 2556 โดยชื่อ กอนโคเคน มาจากภาษาเตฮูเอลเช ของผู้อยู่อาศัยกลุ่มแรกในภูมิภาค และมีความหมายว่า “คล้ายกับเป็ดป่าหรือหงส์”.

เครดิตภาพ : AFP