เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณีเพจ CSI LA นำเสนอข้อมูลที่มีผลกระทบกับกองทัพเรือ โดยระบุว่ามีบุคลากรของกองทัพเรือ เรียกรับเงินจากบริษัทที่เป็นผู้ผลิต และจัดจำหน่ายุทโธปกรณ์รวมถึงบังคับให้แก้ไขสัญญา ในอาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จ เพื่อผลประโยชน์ให้กับบริษัทรับเหมาของพวกพ้อง รายละเอียดตามที่สื่อมวลชนหลายสำนักได้มีการนำเสนอไปแล้วนั้น

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. ได้รับทราบและสั่งการให้มีการตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยกองทัพเรือยอมรับว่า มีโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท ชัยเสรี เม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด คือโครงการจัดหารถหุ้มเกราะล้อยาง (8×8) ชนิดลำเลียงพล 7 คัน วงเงินรวม 448 ล้านบาท เป็นโครงการเริ่มใหม่ประจำปีงบประมาณ 66 โดยเป็นโครงการรายการปีเดียว มีระยะเวลาส่งมอบงาน 270 วัน ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ได้ดำเนินการจัดหาโดยวิธีคัดเลือกและใช้เกณฑ์ราคาประกอบเกณฑ์อื่น (price performance) เป็นเกณฑ์ตัดสินผู้ชนะการคัดเลือก ทั้งนี้มีบริษัทยื่นข้อเสนอ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท ชัยเสรี เม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด, บริษัท พนัสแอดเซมบรีส์ จำกัด และ บริษัท แอดวานเซอร์วิส จำกัด

ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและขออนุมัติสั่งซื้อจากกระทรวงกลาโหม โดยในส่วนของ บริษัท ชัยเสรีฯ ที่ถูกพาดพิง ได้มีการจัดทำเอกสารชี้แจงกับสื่อมวลชน เพื่อยืนยันความชัดเจนกับสื่อมวลชน พร้อมทั้งเรียกร้องให้เพจ CSI LA เปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สังคมได้รับทราบกันอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยเร็ว รายละเอียดตามหนังสือของทางบริษัท

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวอีกว่า ในขั้นตอนของการจัดหายุทโธปกรณ์ หรือการทำสัญญากับบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับกองทัพ มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐระหว่างกองทัพเรือ หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ, ผู้ประกอบการ และคณะผู้สังเกตการณ์ เข้าร่วมตรวจสอบตามขั้นตอน โดยกองทัพเรือ จะคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังนั้นเรื่องการเรียกค่าหัวคิว 15% จึงไม่เป็นความจริงแต่ประการใด

กองทัพเรือ จึงขอชี้แจงให้สื่อมวลชนได้รับทราบและนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ให้พี่น้องประชาชนและสังคมได้รับทราบต่อไป ทั้งนี้ การออกมาให้ข่าวโจมตีกองทัพเรือจากเพจ CSI LA ในครั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า การให้ข่าวลักษณะนี้ มักจะมาในช่วงฤดูโยกย้าย โดยมีผู้ไม่หวังดีภายในกองทัพเรือ ส่งข้อมูลให้เพจดังกล่าว เพื่อมีจุดประสงค์ในการ Discredit ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ เพื่อหวังผลต่อการพิจารณาการดำรงตำแหน่งชั้นยศนายพลในช่วง ต.ค. 66 ซึ่งผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ทาง บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด ได้มีคำเตือนขอให้มีการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการแชร์ข่าวต่อ ซึ่งหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ทางบริษัทแจ้งว่า จะดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องชื่อเสียงของบริษัท ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับ พล.ร.อ.ชลทิศ นาวานุเคราะห์ ถือเป็นตัวเต็งชิงเก้าอี้ ผบ.ทร. ร่วมกับแคนดิแดตอีก 2 คน คือ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข และ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม

ทางด้าน นางนพรัตน์ กุลหิรัญ รองประธาน บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด ได้ทำหนังสือชี้แจงสื่อมวลชนจากกรณีที่มีเพจใน Social Media โพสต์ข้อมูลกล่าวอ้างว่า “นายพล ช. เรียกเงินจากบริษัท ชัยเสรีของมาดามรถถัง 15%” บริษัทฯ ขอเรียนให้ทราบว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่มีมูลความจริง การกระทำดังกล่าวถือเป็นการดิสเครดิตและสร้างความเสียหายต่อบริษัทฯ และกองทัพเรืออย่างมาก และเป็นความพยายามปลูกฝังความเชื่อด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ต่อภาคอุตสาหกรรม ผู้ผลิตอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในภาพรวม

บริษัทฯ ขอให้ประชาชนผู้ติดตามข่าวมีวิจารณญาณในการรับฟัง และตั้งข้อสังเกตจากเจตนารมณ์ผู้สร้างข่าวว่ามีวัตถุประสงค์ใด และผู้ใดได้รับประโยชน์จากข่าวนี้ และขอเรียกร้องให้เพจดังกล่าวเปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สังคมได้รับทราบกันอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยเร็ว ทั้งนี้ขอความกรุณาสื่อต่างๆ ตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงของการดำเนินการ ก่อนที่จะแชร์ข่าวต่อ หากมีความเสียหายเกิดขึ้น บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องชื่อเสียงของบริษัทฯ ต่อไป

ทั้งนี้ บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ ประกอบกิจการโดยยึดหลักธรรมาภิบาลและโปร่งใสในผลิตยานเกราะล้อยาง และยานเกราะสายพาน และรับซ่อมสร้างปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพยุทโธปกรณ์ในราชการทหาร อาทิ รถสายพานลำเลียงพล M113 รถเกราะคอมมานโด V-150 รถยนต์บรรทุก ขนาด 2 1/2M35 A2 รถยนต์กู้ซ่อม M816 รถกู้ซ่อม M543 ขนาด 5 ตัน เป็นต้น และผลิตยาง Run-lat ล้อกดสายพานและข้อสายพานรถถัง มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของคนไทย ดำเนินการโดยใช้แรงงาน และสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนการใช้ฐานการผลิตภายในประเทศ เพื่อสนับสนุนเหล่าทัพ หน่วยงานความมั่นคงของประเทศไทย และส่งออกในภารกิจเพื่อสันติภาพสหประชาชาติ (UN Mission) กองทัพประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 40 ประเทศ