เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ และประธานกรรมการบริษัท เบทาโกรโฮลดิ้ง จำกัด ได้ถึงแก่กรรม ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี สิริอายุ 88 ปี โดยจะตั้งศพสวดพระอภิธรรม ศาลา 1 (ศาลาเตชะอิทธิพร) วัดเทพศิรินทราวาส แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร กำหนดสวดพระอภิธรรม ในเวลา 18.30 น. ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 1 ก.ค. ถึงวันพฤหัสบดีที่ 6 ก.ค. และในวันเสาร์ที่ 8 ก.ค. เวลา 17.00 น. จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ

สำหรับ “ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์” เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2478 ที่อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของเบทาโกรมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน ด้วยวิสัยทัศน์และมุมมองที่เล็งเห็นว่า อุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาไปสู่ธุรกิจอาหาร ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต จึงมุ่งวางรากฐานพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ไทย โดยการริเริ่มนำระบบการจัดการและเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มคุณภาพผลผลิต ทั้งการผลิตอาหารสัตว์ การพัฒนาพันธุ์สัตว์และระบบการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการแปรรูปเนื้อสัตว์และอาหารที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดตลอดห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ ทำให้เบทาโกรเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง เป็นธุรกิจอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำครบวงจรของไทย โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นมีพื้นฐานมาจากแนวคิดในการดำเนินธุรกิจและการบริหารองค์กรของ “ดร.ชัยวัฒน์” ที่ว่า ความถูกต้อง ต้องมาก่อนกำไร ที่ได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และถูกสะท้อนมาเป็นจุดประสงค์ในการดำเนินธุรกิจของเบทาโกร ที่ต้องการส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพมากกว่า และความปลอดภัยที่สูงกว่า ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนมาจนถึงปัจจุบัน

“ดร.ชัยวัฒน์” เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานและพัฒนาองค์ความรู้ด้านธุรกิจและวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ของไทย โดยเป็นผู้ที่นำเครื่องผสมอาหารสัตว์ที่ทันสมัยจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เข้ามาใช้ในธุรกิจอาหารสัตว์เป็นรายแรกของประเทศ ทั้งยังได้นำเอาระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการพัฒนาและคำนวณสูตรอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

นอกจากนี้ยังเป็น “ผู้บุกเบิกและพัฒนาวงการสุกรของไทย” โดยได้มีการเช่าเหมาเครื่องบินนำเข้าพ่อแม่พันธุ์สุกรจากประเทศอังกฤษ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทย สามารถลดต้นทุนการผลิตและให้ผลผลิตสุกรขุนที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งสามารถแปรรูปเป็นเนื้อสุกรที่มีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่งผลให้สุกรพันธุ์ของเบทาโกรได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อีกทั้งยังได้มีการร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทซูมิโตโม่ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ในการผลิตและจำหน่ายสุกรปลอดโรค ด้วยเทคนิคการเลี้ยงแบบ SPF (Specific Pathogen Free) ซึ่งถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่ทำให้สุกรปลอดโรคสำคัญ และปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะ สารเร่งเนื้อแดง รวมถึงสารเร่งการเจริญเติบโตใด ๆ ตลอดจนมีการก่อสร้างโรงงานแปรรูปสุกรที่ทันสมัย ได้มาตรฐานสุขอนามัย สำหรับการผลิตเนื้อสุกรภายใต้แบรนด์ S-Pure เพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภค จนกระทั่งในปี 2561 S-Pure ถือเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารรายแรกของโลกและของไทยที่ได้รับการรับรองการเลี้ยงแบบไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (Raised Without Antibiotics – RWA) จาก NSF สหรัฐอเมริกา

ขณะที่การพัฒนาพันธุ์ไก่ ได้มีการนำเข้าไก่พ่อแม่พันธุ์เพื่อมาผลิตเป็นลูกไก่เนื้อคุณภาพสูง และส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพภายใต้ระบบการจัดการฟาร์มที่ทันสมัย จนพัฒนามาเป็นระบบการเลี้ยงแบบโรงเรือนปิด (Evaporation System) โดยไก่ที่ได้จะถูกนำมาแปรรูปเพื่อจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เบทาโกรกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกไก่ปรุงสุกรายสำคัญของไทย เพราะด้วยคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับในความเข้มงวดกับความปลอดภัยของอาหารในระดับสูงสุด

ไม่เพียงเท่านี้ “ดร.ชัยวัฒน์” ยังให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารเบทาโกร โดยกำหนดให้มีการดูแลกระบวนการผลิตและจัดจำหน่าย ภายใต้มาตรฐานการจัดการคุณภาพ และความปลอดภัยของอาหารตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพเข้าไปในระบบอาหารของประเทศไทย ทั้งหมู ไก่ ไข่ ทั้งการเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนระบบปิด มีระบบตรวจสอบย้อนกลับอิเล็กทรอนิกส์ (Betagro e-Traceability) เป็นรายแรกของไทย สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์อาหาร และมีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Betagro Biosecurity Management) เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคในปศุสัตว์ โดยมีระบบจัดการคุณภาพมาตรฐานของเบทาโกร (Betagro Quality Management-BQM) ที่มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร มีการตรวจติดตามและควบคุมตามมาตรฐานอาหารปลอดภัยระดับสากลอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดสูงสุด ในราคาเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค ทั้งหมดนี้จึงไม่ใช่แค่เพียงการขับเคลื่อนธุรกิจเบทาโกรให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและอาหาร อันเป็นพลังสำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

และนอกจากการวางรากฐานพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ไทย มาสู่การยกระดับอุตสาหกรรมอาหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย “ดร.ชัยวัฒน์” ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ ด้วยการผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ากับการพัฒนาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่สูงกว่าสู่ผู้บริโภคอย่างมีจริยธรรม โดยในด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนระยะยาว ทั้งการบริหารจัดการน้ำ ของเสีย และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ด้านสังคม “ดร.ชัยวัฒน์” เชื่อว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนารากฐานของประเทศให้แข็งแกร่ง และสร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงมีนโยบายในการสนับสนุนด้านการศึกษาทั้งภายในและภายนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนการศึกษาแก่พนักงานเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท การให้ทุนการศึกษาแก่บุตรพนักงาน การสนับสนุนด้านการเรียนการสอน และการก่อสร้างอาคารเรียนให้แก่โรงเรียนเบทาโกรวิทยา (สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของการก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2530 ตลอดจนการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของไทย จนต่อมาเมื่อปี 2539 ได้ก่อตั้ง “มูลนิธิสายธาร” เพื่อสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร พร้อมทั้งส่งเสริมช่วยเหลือผู้กระทำความดี ตลอดจนดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น ๆ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์อีกด้วย

ทั้งหมดนี้จึงทำให้ “ดร.ชัยวัฒน์” เป็นผู้ที่วงการอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้การยอมรับเป็นอย่างมากในความรู้ความสามารถและความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก 7 มหาวิทยาลัยในประเทศไทย อันได้แก่ ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้, ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สัตวศาสตร์) ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อีกด้วย