ณ เวลานี้ มีหลายฝ่ายต่างอดคิดกันไม่ได้ว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่ถูกเลื่อนออกไป ในหลาย ๆ กรณี รวมไปถึงการเลื่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น มีเหตุผลใด? ที่แอบแฝงไว้ข้างหลังกันแน่! หลายฝ่ายมองว่า…เป็นเพราะประโยชน์ยังไม่ลงตัว โดยเฉพาะการเลือกเก้าอี้รัฐมนตรีใน ครม.ชุดใหม่ หรือเป็นการทอดเวลา!! ให้คนที่จะเข้ามาเป็นผู้นำประเทศคนใหม่ ฟอกตัวให้ขาวสะอาด!!

จี้ตั้งรัฐบาลให้เสร็จโดยเร็ว

แต่!! ข้อเท็จจริง คืออะไรกันแน่? เชื่อเถอะ ไม่มีใครตอบได้ถูกต้อง 100% เพราะคนในฝ่ายการเมืองเองก็ยังไม่มีใครรู้อย่างครบถ้วน ครบทุกขั้นตอน นอกจากคนวางหมาก วางเกม ก็เท่านั้น หากมาถามกันว่า ประชาชนพลเมืองไทย ต้องการรับรู้รับทราบหรือไม่? ก็อาจมีบ้าง แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในเวลานี้ ต่างเรียกร้องให้การจัดตั้งรัฐบาล เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด อย่าล่าช้าไปกว่าไทม์ไลน์ที่วาง ๆ กันไว้ คือทั้งหมด ทั้งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ต้องแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้

เพราะอะไร? เพราะไม่เช่นนั้น!! จะยิ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่เดิมคาดการณ์กันว่าจะล่าช้าไปประมาณ 3 เดือน หรือหนึ่งไตรมาส ถ้าการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยืดเยื้อ ก็เท่ากับว่าการเบิกจ่ายงบประมาณยิ่งล่าช้าออกไปอาจเนิ่นนานไปถึง 6 เดือนหรือสองไตรมาส ปัญหานี้จะทำให้เงินลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ของภาครัฐต้องชะลอต้องล่าช้าออกไปอีก ที่สำคัญกว่านั้น คือเรื่องของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือเอฟดีไอ ที่เป็นอีกเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาจลดน้อยถอยลงไป หรือไม่ก็หนีหายหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน

หวั่นเศรษฐกิจโลกฉุด

ไม่เพียงเท่านี้… สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในเวลานี้ก็หนักหนาสาหัส สากรรจ์ เพราะยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และยุโรป และความกังวลเงินเฟ้อ ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปีนี้ เพียงแค่ 3% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำมากเมื่อเทียบกับอดีต ขณะเดียวกันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มแผ่วลง โดยเห็นได้จากจีดีพีไตรมาสที่ 2 ของจีน ขยายตัวได้เพียง 6.3% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 7.3% และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เป็นผลมากนัก 

ด้วยเหตุนี้ เครื่องยนต์หลักของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างการส่งออก ยังคงเผชิญแรงกดดันจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ ล่าสุดการส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา หดตัวไปถึง 6.4% ซึ่งนับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 แล้ว และส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 66 ไทยต้องขาดดุลการค้า 6,307.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐกันทีเดียว

สารพัดหน่วยงานจ่อลดจีดีพี

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าบรรดาหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจได้ออกมาจดจ้องที่เตรียมปรับลดจีดีพีไทยในปีนี้ลดลงไปอีก อย่างล่าสุด ก็เป็นกระทรวงการคลัง ที่ได้ปรับลดจีดีพีเหลือเพียง 3.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.6% หลังการส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกันถ้าการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อจนทำให้งบประมาณปี 67 ต้องล่าช้าไปนานเกินกว่า 6 เดือน จะกระทบจีดีพีประมาณ 0.05% แต่หากช้ากว่านั้น ช้าไปถึง 9 เดือน กระทบจีดีพี 0.07% ขณะที่อีกหนึ่งหน่วยงานหลักอย่างแบงก์ชาติ ก็ประกาศชัดเจนว่ามีโอกาสมากที่แบงก์ชาติจะปรับตัวเลขจีดีพีใหม่อีกครั้ง เพราะเห็นแนวโน้มการส่งออกที่ชะลอตัวลงมาก รวมถึงต้องจับตาดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วย รวมถึงท่าทีของสภาพัฒน์ว่าจะปรับคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีมากน้อยเพียงใด เช่นกัน

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เต็มไปด้วยการกีดกันทางการค้า ความปั่นป่วนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการให้ความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้ต่างต้องการให้รัฐบาลมาตัดสินใจ เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปให้ได้ เช่นเดียวกับเรื่องของการท่องเที่ยว ที่ยังต้องการงบประมาณมาอุดหนุนในช่วงโลว์ซีซัน หรือในช่วงไตรมาส 3 เพื่อกระตุกกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่า ท่องเที่ยว!! กำลังมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แต่หากขาดแรงกระตุ้นสำคัญ ก็อาจทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ไปไม่ถึงฝั่งฝันด้วยเช่นกัน

ชาวนาเคว้งประกันข้าววืด

ไม่เพียงเท่านี้ บรรดานโยบายต่าง ๆ ที่ต้องรอการขับเคลื่อนจากรัฐบาลชุดใหม่อาจต้องค้างเติ่ง รอกันเนิ่นนาน ทั้งเรื่องของการประกันภัยพืชผลเกษตร โดยเฉพาะนาข้าว ที่จนถึงเวลานี้ ได้ผ่านพ้นเวลาไปแล้ว บรรดาชาวไร่ชาวนา ต้องเผชิญต้องผจญความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติเอาเอง และอย่าลืมว่าปัญหาโลกร้อนจนนำมาสู่ภัยแล้งก็กำลังมา และจะอยู่เนิ่นนานไปจนถึงปีหน้า แม้สามารถรับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปี 64 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกำหนดแนวทางการช่วยเหลือด้านพืชว่า กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตาย หรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟู หรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้อีก ให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริง ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยกรณีข้าวให้ช่วยเหลือไร่ละ 1,340 บาท ก็ตาม

เงินอุดหนุนอีวีใกล้หมด

ใช่แค่เรื่องชาวไร่ชาวนา เท่านั้น หรือแม้แต่นโยบายการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี ที่รัฐบาลได้ผลักดันมาโดยตลอด ที่พบว่าเวลานี้กองทุนสนับสนุนการใช้ยานยนต์อีวี จำนวน 2,900 ล้านบาท นั้นมียอดเงินคงเหลืออยู่เพียง 1,000 ล้านบาท หลังพบว่าประชาชนคนไทยนั้นหันมาใช้รถอีวีกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่เริ่มมาตรการอุดหนุนให้กับผู้ใช้รถอีวีคันละไม่เกิน 70,000-1.5 แสนบาท จนถึงปัจจุบันมีรถอีวีที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกแล้วประมาณ 20,000 คัน หรือขยายตัวมากถึง 270% จากช่วงก่อนหน้าที่จะมีมาตรการ และมาตรการนี้มีกำหนดไปจนถึงปี 68 ด้วยเหตุนี้ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องของบประมาณจากรัฐบาลมาสนับสนุนเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับปัญหาปากท้องสินค้าราคาแพง ที่รายได้มีไม่เพียงพอกับรายจ่าย มีไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ ที่ต้องการรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาผลักดันมาตรการเพื่อประคับประคอง กระตุ้นให้คนไทยอยู่ดีกินดี เช่นเดียวกับที่รับปากในช่วงเดินสายหาเสียงกันไว้ หรือเป็นเรื่องของหนี้สินที่มีอยู่ล้นพ้นตัว แม้มีแบงก์ชาติ เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนเป็นหน่วยงานกำกับดูแล แต่ก็ใช่ว่าจะเดินหน้าผลักดันโดยลำพังได้ เพราะบางเรื่องบางมาตรการ ก็ต้องอาศัยนโยบายเข้ามาสนับสนุนด้วย โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องของแบงก์รัฐ หากต้องใช้เงินตัวเองออกไปก่อน ก็ต้องได้รับเงินงบประมาณมาอุดหนุนด้วย

ที่สำคัญ!! มาตรการอุ้มลูกหนี้ของแบงก์ชาติจะหมดลงในสิ้นปีนี้ นั่นหมายความว่า สารพัดหนี้ สารพัดค่าใช้จ่ายที่กดกันเอาไว้ก็จะเริ่มโผล่กันออกมาให้เห็น หากเศรษฐกิจไม่เดินหน้า นั่นก็เท่ากับว่าเงินในกระเป๋าของคนไทยก็จะลดน้อยถอยลง เมื่อหนี้โผล่ เงินไม่มีจ่าย ก็กลายเป็นดินพอกหางหมูให้กับเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นไปอีก

เอาเป็นว่า นี่เป็นเพียงปัญหาเบาะ ๆ เบา ๆ สิว ๆ เท่านั้น ยังมีอีกสารพัดปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว แต่หากการเมืองยังสาละวนอยู่กับการจัดการผลประโยชน์ไม่ลงตัว ปล่อยให้เกิดความปั่นป่วน จนทำให้ความเชื่อมั่นเริ่มหดหายเช่นนี้ แล้วอนาคตเศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน?

หวังได้รัฐบาลตามไทม์ไลน์

สนั่น อังอุบลกุลประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่และการจัดตั้งรัฐบาล ยังอยู่ในช่วงเวลาที่ภาคเอกชนประเมินไว้และคาดว่าอาจจะได้รัฐบาลชุดใหม่ในช่วงปลายเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ หากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดเวลาที่คาดการณ์ไว้ ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดทำงบประมาณของประเทศ รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปี ที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่หลายฝ่ายประเมินว่าจะเป็นจุดฟื้นเศรษฐกิจในปีนี้

“การมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศเร็วเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากในสถานการณ์เช่นนี้ และหากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ เชื่อว่าน่าจะสามารถเร่งดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจได้ทันที เพราะมีประสบการณ์บริหารประเทศมาก่อนหน้านี้ และหลายนโยบายในสมัยที่เป็นรัฐบาลก็สามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จ ส่วนประเด็นความเห็นต่างและการชุมนุมที่เกิดขึ้นถือเป็นสิทธิของประชาชนที่จะแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย หากไม่มีการชุมนุมที่ยืดเยื้อหรือรุนแรงก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตได้ดีและเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย”

อยากเห็น ครม.เศรษฐกิจ

เกรียงไกร เธียรนุกุลประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...) ย้ำว่า ตอนนี้อยากให้เร่งกระบวนการและเร่งจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องภัยแล้งที่เริ่มลุกลามแล้ว โดยภาคเอกชนก็คาดหวังอยากจะเห็นหน้าตาของทีมรัฐบาล รวมถึงอยากเห็นความหล่อของ ครม.เศรษฐกิจว่าจะมีหน้าตาอย่างไร ต้องเป็นบุคคลที่สร้างความเชื่อมั่นและมีฝีมือทางด้านเศรษฐกิจ เพราะอย่างน้อยก็ช่วยเรียกความเชื่อมั่นได้ไม่น้อย

“เชื่อว่าหากพรรคเพื่อไทยคุมกระทรวงเศรษฐกิจ ก็เชื่อมั่นในฝีมือทั้งโจทย์เศรษฐกิจระดับโลก โจทย์ในประเทศ หนี้ครัวเรือน โครงสร้างหนี้สินที่เป็นหัวใจสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจต้องได้รับการแก้ไข หากดูจากทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีจุดเเข็งเรื่องของประสบการณ์ทำงานด้านเศรษฐกิจและนโยบายกระจายรายได้และขับเคลื่อนที่ถือว่าก้าวหน้า ประเด็นนโยบายเศรษฐกิจถือว่ามีจุดขายการทำงานมากว่า 20 ปี ฉะนั้นเอกชนมั่นใจในทีมเศรษฐกิจ เพียงแต่การขับเคลื่อนโครงสร้างกระทรวงต่าง ๆ ที่จะจัดตั้งรัฐบาลต้องลงไปดู มีส่วนไหนอย่างไรบ้าง แต่ที่ไม่อยากเห็น คือความยืดเยื้อหรือเกิดสถานการณ์ความรุนแรง ณ เวลานี้ เพียงแค่ให้ทุกอย่างเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้”

ขาดงบฯ กระตุ้นท่องเที่ยว

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) บอกว่า การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ทุกอย่างจะง่ายขึ้น และยืนยันว่าภาคการท่องเที่ยวสามารถทำงานได้กับทุกรัฐบาล แต่สิ่งที่เป็นห่วงหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปอีก  คือเรื่องของการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลจะไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ และมีผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวหรือโลว์ซีซัน ในช่วงไตรมาส 3 นี้ ที่จำเป็นต้องได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเข้ามาช่วยกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว โดยเชื่อว่าในเวลานี้จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 3 นี้จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 8 ล้านคน

“ต้องยอมรับว่าจุดสำคัญของการท่องเที่ยวในเวลานี้ คือการได้รับงบประมาณมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและทำบูสเตอร์ช็อตเพื่อกระตุ้นในช่วงโลว์ซีซัน รวมถึงการอัปสกิล-รีสกิล ให้กับบรรดาพนักงานในสายอาชีพการท่องเที่ยว ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าทำให้มีรอยต่อเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามในไตรมาสแรก ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 6 ล้านคน ขณะที่ไตรมาส 2 มีจำนวน 7 ล้านคน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย หากไตรมาส 3 ไม่ได้ตามเป้าหมายอีก ก็เชื่อว่าภาพรวมทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ถึง 28 ล้านคน และรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.38 ล้านล้านบาท”

งบฯมาช้ากระทบลงทุนรัฐ

ปิติ ดิษยทัตผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  กล่าวว่า ความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น ได้กระทบกับการเบิกจ่ายงบประมาณ 67 ให้มีผลบังคับใช้ล่าช้าออกไป 2 ไตรมาส คือตั้งแต่เดือน ต.ค. 66-มี.ค. 67 หรืออาจออกใช้ในไตรมาส 2 ของปีปฏิทิน หรือประมาณ เม.ย. 67 ซึ่งไม่ได้กระทบงบเบิกจ่ายประจำมาก แต่จะกระทบกับการลงทุน
ภาครัฐ เกิดการชะลอโครงการใหม่ออกไป แม้สัดส่วนจีดีพีไม่ได้มาก น้ำหนักที่กระทบมากคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน ลงทุนเอกชน ทั้งบริษัทในประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ  หรือเอฟดีไอ ซึ่งเป็นตัวแปรที่กระทบกับเศรษฐกิจมากกว่า ต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง เพราะงบประมาณปี 67 ทางสำนักงบประมาณแจ้งว่าต้องยื่นคำขอไปใหม่ หรือต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด

“การจัดตั้งรัฐบาลเป็นข้อต่อแรกในแนวนโยบายภาครัฐที่ตามมา มีความไม่แน่นอนเยอะ นโยบายภาครัฐจะมารูปแบบไหน ความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้การคาดเดาดำเนินนโยบายระยะข้างหน้าต้องรอดูความชัดเจน ตอนนี้ยังอาจมองไม่ค่อยออก ภาพรวมระยะเวลายาวเท่าไร แต่ไม่ดีต่อการลงทุนและกิจกรรมเศรษฐกิจ หวังว่ากระบวนการจะดำเนินการได้รวดเร็ว โดยธปท.มีโอกาสปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 66 ใหม่ หลังการส่งออกชะลอกว่าที่คาด รวมถึงต้องจับตาดูนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ด้วยว่าจะมีทิศทางไปแบบใด”.

ทีมเศรษฐกิจ