ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อิตาลีต้องประสบปัญหา “ปูม้า” จำนวนมหาศาล บุกรุกชายฝั่งและแอ่งน้ำลากูนในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำประเภทอื่น จนต้องจัดงบประมาณ 2.9 ล้านยูโร (ราว 112 ล้านบาท) เพื่อแก้ไขปัญหา

แต่เดิม ปูม้าอาศัยอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกฝั่งตะวันตก และเริ่มลุกลามเข้ามาหากินในแอ่งน้ำลากูนริมฝั่งทะเลของอิตาลีหลายแห่ง พวกมันล่าเหยื่อที่เป็นสัตว์น้ำในท้องถิ่น เช่น หอย, ไข่ปลา เป็นจำนวนมาก ด้านนักชีววิทยาทางทะเลระบุว่า ลูกหอยราว 90% โดนพวกมันจับกิน 

อิตาลีต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน เนื่องจากเป็นประเทศผู้นำด้านการส่งออกหอยทะเล และพฤติกรรมการกินของปูม้าเหล่านี้ สร้างความเสียหายแก่อุตสาหกรรมโดยรวม ทั้งนี้ มีฟาร์มหอยที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์ปูม้าบุกนี้ คือฟาร์มที่อยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโป ทางตอนเหนือของอิตาลี ซึ่งกำลังจะได้รับเงินช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากรัฐบาล

นอกจากนี้ งบประมาณ 2.9 ล้านยูโร จะถูกจัดสรรให้องค์กรด้านการประมงและฟาร์มสัตว์ทะเล ไปใช้ในมาตรการป้องกันการเพิ่มจำนวนประชากรปูม้า ด้วยการเปิดแคมเปญการตกปลาและการประมงครั้งใหญ่ โดยชาวประมงที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ สามารถจับปูม้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดจำนวนปูลง

ตามรายงานของหน่วยงานด้านการประมงว่ามีการจับปูม้าถึงวันละ 12 ตัน ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโป กระนั้น ก็ลดจำนวนปูม้าที่บุกรุกแหล่งน้ำได้เพียงน้อยนิด

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงที่ปูม้าแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วเช่นนี้ เป็นไปได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่พบหลักฐานชัดเจนที่สนับสนุนแนวคิดนี้

ส่วนปูม้าที่เข้ามาแพร่พันธุ์ในทะเลอิตาลีอย่างรวดเร็วในตอนนี้ คาดว่าติดมากับกระแสน้ำใต้ท้องเรือที่เข้าเทียบท่าชายฝั่งอิตาลี ซึ่งเคยมีการตรวจพบตั้งแต่ทศวรรษก่อน แต่ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมจึงเกิดการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน

สถานการณ์เช่นนี้ ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้เชี่ยวชาญยังเตือนด้วยว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำจัดปูม้าออกไปได้ให้หมดสิ้น

ตามข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติในปี 2564 อิตาลีคือประเทศผู้ผลิตหอยทะเลประเภท Clam ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปและเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและเกาหลีใต้ 

นอกจากนี้ สถานการณ์ปูม้าที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วขณะนี้ อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการปรุงเมนูเด็ดประจำชาติอย่าง สปาเกตตี อัลเล วองโกเล หรือสปาเกตตีหอยตลับ/หอยลาย 

ที่มา : news.sky.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES