เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประกาศระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ที่เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2566 ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ต้องเร่งทบทวนระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการเพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะมีผลกระทบต่อประชาชนที่กำลังจะเข้าสู่การรับสิทธิเบี้ยยังชีพ ความหมายคือ ด้วยเงื่อนไขที่ได้กำหนดขึ้นใหม่ กำหนดว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” ต่อจากนี้ จะต้องมีการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอหรือไม่ ซึ่งประชาชนจะไม่ได้รับสวัสดิการนี้ถ้วนหน้าเช่นเดิม สังคมกำลังรอคำอธิบายจากกระทรวงมหาดไทย และต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อปรับปรุงแก้ไขไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติและให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

นายราเมศ กล่าวอีกว่า แม้เงื่อนไขนี้ไม่กระทบกับประชาชนที่เคยได้รับสิทธิอยู่แล้ว เพราะมีบทเฉพาะกาลรองรับอยู่ที่เขียนไว้ว่า “ผู้สูงอายุ ที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุอยู่ก่อนระเบียบนี้ ก็ให้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไปได้” แต่ในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติใหม่นั้น ต้องได้รับการทบทวน ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์เล็งเห็นถึงความสำคัญที่ผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแล และได้รับสวัสดิการจากรัฐเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แบบเบี้ยยังชีพถ้วนหน้า ยกเว้นผู้ที่ได้รับบำเน็จบำนาญ และเป็นนโยบายที่ทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีได้รับประโยชน์

ด้าน นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าว สร้างความสับสนให้ประชาชนเป็นอย่างมาก และในหลักเกณฑ์ใหม่ให้ กผส. เป็นผู้กำหนดนั้น ตนมองว่าอาจเป็นการตีเช็คเปล่าให้ กผส. กำหนดเกณฑ์ได้ตามใจชอบ โดยไม่ได้อ้างอิงกับความเป็นจริงของปัญหาในผู้สูงอายุแต่ละพื้นที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งการออกระเบียบดังกล่าว เปรียบเสมือนเป็นการลักหลับ โดยมาเฉลยทีหลังว่า ต่อจากนี้ไป ผู้สูงอายุที่ยากจนอาจจะไม่ได้เบี้ยยังชีพทุกคน ตนจึงขอเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยปรับเปลี่ยนระเบียบฯ โดยกลับไปใช้เกณฑ์เดิมที่ประชาชนคุ้นเคยกันดี เกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการออกระเบียบใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบเป็นระยะๆ ไม่ใช่มาออกระเบียบแบบที่ไม่ให้ใครตั้งตัว

นายชัยชนะ กล่าวอีกว่า เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีต้นตำรับนโยบายมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ในสมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี โดยให้เป็นการสงเคราะห์ต่อผู้สูงอายุผู้ยากไร้ และพัฒนามาจนเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคน สามารถมีสิทธิขอรับเบี้ยยังชีพได้ ซึ่งเกณฑ์ยกเว้นสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ ก็มีความชัดเจนจนเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้ว และในบางรายที่มีสิทธิได้รับเบี้ยผู้สูงอายุตามเกณฑ์ ก็มีการสละสิทธิให้ผู้สูงอายุรายอื่นได้รับ แต่เมื่อมีการปรับเกณฑ์ให้ กผส. เป็นผู้กำหนดนั้น กผส. อาจนิยามคำว่า ‘เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ’ คลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง รวมทั้งตนเชื่อว่า การออกระเบียบฯ ใหม่โดยไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมเลยนั้น ถือเป็นการส่อเจตนาหมกเม็ด และละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้