หลังจากบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ได้เดินหน้าซื้อหุ้นของบมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSO สัดส่วน 65.99% จากเอ็กซอน โมบิล ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. มูลค่าประมาณ 2.26 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ และจากนั้นจะเข้าซื้อหุ้นในส่วนที่เหลือ 34.01% รวมกว่า 1.16 หมื่นล้านบาท ทำให้เป็นมูลค่าที่บางจากซื้อเอสโซ่กว่า 3.42 หมื่นล้านบาท เป็นอันปิดฉากปั๊มเสือ เอสโซ่(Esso) และทยอยปรับเปลี่ยนให้เป็นบางจากฯตั้งแต่ 1 ก.ย.66 เป็นต้นไป

จากข้อมูลที่น่าสนใจของ “Bnomics – Bangkok Bank Economics” เอสโซ่ (Esso) หรือชื่อเล่น ‘ปั๊มเสือ’ ถูกบางจากเข้าซื้อกิจการสำเร็จในจำนวนหุ้น 65.99% และกำลังดำเนินการเข้าซื้อหุ้นที่เหลือ 34.01% ภายในปีนี้ โดยได้บอกถึงไทม์ไลน์ ย้อนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เหตุการณ์สำคัญของเอสโซ่ในไทยว่าเป็นอย่างไร

ก้าวแรกของเอสโซ่เกิดในปี 1894 หรือ พ.ศ. 2437 เมื่อบริษัท Standard Oil of New York เข้ามาจำหน่ายน้ำมันก๊าดตราไก่และตรานกอินทรี ตรอกกัปตันบุช (ซึ่งแรงบันดาลใจของชื่อมาจากนักเดินเรือชาวอังกฤษ ‘จอห์น บุช’ ที่เข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5)

ช่วงนั้นถือเป็นช่วงบุกเบิกพลังงานสยาม มีการนำเข้าพลังงานจากบริษัทต่างชาติหลายแห่ง และหนึ่งในนั้นคือบริษัท Standard Oil of New York

ในช่วงก่อนปี 2000 มีการควบรวมกิจการและเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าหลายครั้ง เช่นในปี 1931 ทำการควบรวมกับบริษัทแว็คคั่มออยล์ จำกัด และจัดตั้งบริษัท โซโกนีแว๊คคั่ม คอร์ปอเรชั่น จำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นตรา ‘การ์กอยส์’ (Gargoyle) หรือชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าตรา ‘นกแดง’

ต่อมาอีก 2 ปี ได้เข้าร่วมทุนกับบริษัทแสตนดาร์ดออยส์ (นิวเจอร์ซี) และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท แสตนดาร์ดแว๊คคั่มออยล์ จำกัด ใช้เครื่องหมายการค้า “ม้าบิน” และในปี 1962 ก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อบริษัทว่าเอสโซ่ พร้อมโลโก้เอสโซ่ในวงรีรูปไข่แบบที่เราเห็นในปัจจุบัน

โดยชื่อ เอสโซ่ มาจากการออกเสียง ‘S’ และ ‘O’ ของบริษัทเดิมอย่าง Standard Oil

แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเอสโซ่คือการ ‘รับซื้อกิจการคลังน้ำมัน’ จากกรมเชื้อเพลิง สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทต้องการลงทุนธุรกิจน้ำมันในไทยจริงจัง

ความพยายามนี้แสดงให้เห็นอีกในปี 1967 โดยทำการจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมัน เอสโซ่ ศรีราชา บนพื้นที่เกือบ 200 ไร่ ซึ่งสามารถผลิตน้ำมันได้จำนวน 7,000 บาร์เรลต่อวัน

อีก 4 ปีถัดมา เอสโซ่ เพิ่มกำลังผลิตน้ำมันจากการขยายโรงกลั่นขึ้นอีก 5 เท่าสามารถผลิตน้ำมันได้วันละ 35,000 บาร์เรล และพยายามเพิ่มกำลังผลิตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง และในเวลาเพียงแค่ 20 ปี โรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ศรีราชาสามารถผลิตน้ำมันได้ถึง 185,000 บาร์เรลต่อวัน

ก่อนที่บางจากเข้าซื้อกิจการ เอสโซ่อยู่ภายใต้บริษัท เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น (ExxonMobil) ซึ่งเคยเป็นบริษัทพลังงานสัญชาติอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

ซึ่งมาจากการรวมตัวของ 2 บริษัทได้แก่บริษัท Standard oil ก่อตั้งโดยจอห์น เดวิดสัน ร็อกเกอะเฟลเลอร์ (John Davidson Rockefeller) ชายผู้ขายน้ำมันจนร่ำรวยที่สุดในโลก และในปี 1999 ได้ควบรวมเข้ากับบริษัท Mobil กลายเป็น ExxonMobil ในปัจจุบัน และไม่กี่วันที่ผ่านมา ExxonMobil ขายหุ้น Esso จำนวน 65.99% ให้บางจากเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งคิดเป็นจำนวน 22,605,926,000 บาท

เหตุผลในการขายหุ้นเอสโซ่ของ ExxonMobil เพื่อหันไปมุ่งเน้นในการลงทุนในต่างประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกที่กำลังสนใจเรื่องพลังงานสะอาด ขณะเดียวกันก็ต้องการขายกิจการให้ผู้ที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าให้มากขึ้น

ในส่วนเหตุผลของบางจากคือเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของบางจากฯ และประเทศไทย โดยบางจากจะได้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 174,000 บาร์เรลต่อวัน รวมกับกำลังผลิตเดิมจะทำให้บางจากสามารถกลั่นน้ำมันรวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน

สถานีบริการเพิ่มอีกกว่า 700 แห่ง รวมกับจำนวนเดิม จะทำให้บางจากมีสถานีบริการกว่า 2,100 แห่ง ขึ้นไปเทียบเคียงกับ PTT (OR) ที่มีสถานีบริการ 2,085 แห่งและ PT ที่มีสถานีบริการ 1,958 แห่ง

และบางจากกำลังดำเนินการทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือ (tender offer) อีก 34.01%  หากดำเนินการสำเร็จ บางจากจะเป็นผู้ถือหุ้น 100% ในกิจการเอสโซ่ เป็นการปิดตำนาน 129 ปี ปั๊มเสือแห่งเมืองไทย ใครที่คุ้น ๆ กับภาพพี่เสือยืนกอดอกทะมัดทะแมงก็คงไม่ได้เห็นภาพนี้อีกแล้ว

( ขอบคุณข้อมูลจาก  Bnomics ธนาคารกรุงเทพ )