ในปี 2562 เด็กนักเรียนชายคนหนึ่งในเมืองเอฮิโด ปาเดร คิโน รัฐบาฮาแคลิฟอร์เนีย ประเทศเม็กซิโก กลับมาบ้านพร้อมกับอาการอ่อนเพลียและมีไข้ อาการของหนูน้อยวัย 7 ขวบแย่ลงเรื่อย ๆ ทั้งปวดท้องและอาเจียน มีจุดสีแดงขึ้นที่มือ แต่ไม่มีแพทย์คนไหนในชุมชนที่จะมองออกว่านั่นคือสัญญาณเตือนว่าเด็กชายกำลังติดเชื้อร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตชื่อว่าโรคไข้พุพองเทือกเขาร็อคกี (Rocky Mountain spotted fever) จนกระทั่งหนูน้อยเสียชีวิตในเวลา 1 สัปดาห์หลังจากล้มป่วย

ในปีต่อมา โรคเดียวกันนี้คร่าชีวิตเด็กชายวัย 5 ขวบที่อยู่ในละแวกเดียวกัน และในเดือนต.ค. ปี 2565 ก็มีเด็กวัย 7 ขวบอีกรายในย่านนั้น ที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุเดียวกัน

โรคไข้พุพองเทือกเขาร็อคกีนี้มี “เห็บ” เป็นพาหะ เมื่อมันกัดคน มันก็จะแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายคนที่โดนกัด ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เห็บเหล่านี้จะอาศัยอยู่บนผิวหนังของสัตว์และมีโอกาสน้อยมากที่มนุษย์จะได้รับเชื้อ แต่ในปัจจุบันกลับพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ และได้กลายเป็นโรคระบาดในภาคเหนือของประเทศเม็กซิโกไปแล้ว โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่า 2,000 รายและมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก 

สำหรับในรัฐบาฮาแคลิฟอร์เนีย เมื่อปีที่แล้วมีผู้ป่วย 92 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 2 เท่า

โรคระบาดร้ายแรงที่มาจากเห็บนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์จากเม็กซิโกและสหรัฐจับมือร่วมทีมกัน เนื่องจากชายแดนที่ติดต่อกันของทั้งสองประเทศ 

อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นมีส่วนทำให้เห็บแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมากขึ้นในอัตราที่น่าเป็นห่วง ทีมนักวิทยาศาสตร์เป็นกังวลว่าโรคไข้พุพองเทือกเขาร็อคกีซึ่งมีการค้นพบครั้งแรกในศตวรรษที่ 20 ที่ภาคตะวันตกของรัฐมอนแทนา อาจแพร่กระจายไปสู่หลายภูมิภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอากาศแห้งแล้งและร้อนจัด ซึ่งพวกเขาก็ยังไม่แน่ใจว่าจะถึงจุดสูงสุดของโรคเมื่อไหร่

การทำนายการแพร่กระจายของโรคไข้พุพองเทือกเขาร็อคกีนั้นทำได้ยาก เพราะตรวจพบได้ยาก แต่เดิมโรคนี้มีชื่อเรียกว่าโรคหัดดำ (Black measles) เนื่องจากผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นตามผิวหนังและจะกลายเป็นสีดำในเวลาต่อมา โรคนี้นับว่าเป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากเห็บที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคนี้คือ ริคเก็ตเซีย ริคเก็ตซี ปกติแล้วจะพบในเห็บหลายสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของสัตว์ป่าเป็นพาหะ แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์กลับพบแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ในตัวเห็บสุนัขสีน้ำตาลด้วย

นับแต่นั้นก็มีรายงานจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐว่าพบผู้ป่วยโรคจากเห็บนี้เกือบ 500 รายและเสียชีวิตไป 28 รายในแอริโซนา ส่วนในแคลิฟอร์เนีย พบผู้ป่วย 88 รายระหว่างปี 2556-2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าของจำนวนผู้ป่วยในทศวรรษก่อนหน้านั้น

ด้านกระทรวงสาธารณสุขก็แสดงความกังวล เนื่องจากมีการระบาดใหญ่ในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำและมีสุนัขจรจัดอยู่เป็นจำนวนมากในชุมชนเช่นที่เมืองเอฮิโด ปาเดร คิโน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนชนชั้นแรงงานที่อพยพข้ามแดนจากเม็กซิโกเข้ามาในสหรัฐเพื่อหางานทำในไร่สวนต่าง ๆ อีกทั้งสถานการณ์ช่วงโรคโควิด-19 ระบาดก็ทำให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมประชากรสุนัขต้องหยุดการทำงานไปด้วย ส่งผลให้สุนัขจรจัดในสหรัฐเพิ่มจำนวนขึ้น กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โรคไข้พุพองเทือกเขาร็อคกีระบาดหนักขึ้น 

โรคจากเห็บชนิดนี้ ถ้าหากผู้ติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อภายใน 2-3 วันหลังจากได้รับเชื้อ ก็อาจเสียชีวิตได้ โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 4 ใน 10 ราย และเด็กเล็กคือกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด

ออสการ์ เอเฟรน ซาซูเอตา นักระบาดวิทยาจากบาฮาแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ของทั้งสองชาติกล่าวว่า จริง ๆ แล้วโรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้แบบ 100% ส่วนการที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กก็เนื่องมาจากเด็ก ๆ มักจะชอบเล่นกับสุนัข และเมื่อได้รับเชื้อแล้วก็จะป่วยและเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วัน

ดังนั้นจึงมีคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับประชาชนคือ ให้กำจัดเห็บจากตัวสุนัขที่เลี้ยงไว้ หมั่นทำความสะอาดร่องตามพื้นหรือรอยแยกต่าง ๆ เพื่อไม่ให้มีตัวอ่อนของเห็บอาศัยอยู่ได้ และไม่ควรปล่อยให้สุนัขที่เลี้ยงไว้เดินเตร่ไปตามท้องถนนที่สกปรก

ที่มา : washingtonpost.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES