เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายจากทำเนียบรัฐบาลว่า ภายหลังที่มีรายงานว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาสำรวจพื้นที่ในทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ทั้งห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ตึกบัญชาการ 1 และ 2 ตึกสันติไมตรี และห้องปฏิบัติงานของสื่อมวลชน หรือรังนกกระจอก 1-2-3  รวมถึงมีดำริว่าอยากใช้รังนกกระจอก 1 มาเป็นห้องทำงานและห้องประชุมกับบรรดารองนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งล่าสุด นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแล้วว่าจะไม่เข้าไปจัดระเบียบ หรือเปลี่ยนแปลงอะไร แต่จะดูความเป็นอยู่ของสื่อมวลชน หากจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างต้องดีขึ้น

ทั้งนี้ เช้าวันนี้ (4 ก.ย.) สื่อมวลชนทุกแขนงต่างให้ความสนใจ บันทึกภาพห้องพักสื่อมวลชน 1 หรือรังนกกระจอก 1 สถานที่ทำงานแห่งแรกของสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ปฏิบัติงานผ่านมามากกว่า 10 รัฐบาล เป็นสัญลักษณ์คู่กับทำเนียบรัฐบาลมาตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 15 โดยได้แสดงความไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ รังนกกระจอก 1 ได้รับการปรับปรุงมาหลายครั้ง โดยเมื่อสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้ต่อเติมชายคาโดยรอบ เพื่อกันแดดและฝน และต่อมาสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนของหลังคา พื้นทางเดินให้สะดวก และสวยงามขึ้น อีกทั้งยังสามารถให้เจ้าหน้าที่ ผู้ติดตาม ได้มานั่งพักคอยได้

สำหรับตำนานของรังนกกระจอกนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในสมัยก่อนที่สื่อมวลชนยังมีจำนวนไม่มาก จะมีศาลาพักคอย (เดิม) อยู่ตรงบริเวณประตู 8 ซึ่งปัจจุบันเป็นร้านกาแฟฝึกอาชีพผู้พิการ (60 plus) โครงสร้างของรังนกกระจอกเดิมเป็นอาคารประกอบตึกบัญชาการตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตึกไทยคู่ฟ้า เป็นตึกทรงแปดเหลี่ยม หลังคามุงกระเบื้อง ซึ่งเป็นสมัยนิยมในขณะนั้น และเมื่อมีการสร้างตึกบัญชาการใหม่ จึงมีดำริให้ทำเป็นห้องพักของสื่อมวลชน และจากการมีเสียงจ้อกแจ้กจอแจระหว่างการปฏิบัติงาน จึงมีการขนานนามว่า “รังนกกระจอก” ซึ่งปัจจุบัน รังนกกระจอกตั้งอยู่ติดกับตึกนารีสโมสรซึ่งเป็นห้องแถลงข่าวของรัฐบาล โดยส่วนหนึ่งของตึกนารีสโมสรได้ปรับปรุงห้องทำงานของทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาเป็นสถานที่ต้อนรับแขกของรองนายกฯ และห้องประชุมขนาดเล็ก สมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดข่าวการเตรียมจะย้ายผู้สื่อข่าวจากรังนกกระจอก 1 เพื่อปรับปรุงเป็นสถานที่หารือของนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ นั้น ได้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งสื่อมวลชน อดีตสื่อมวลชน นักการเมือง และบรรดาอดีตข้าราชการ และข้าราชการปัจจุบันในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งล้วนแสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีสถานที่ที่มีความพร้อมรองรับรองนายกฯ และคณะ ในการประชุม ทั้งบริเวณห้องประชุมชั้น 3 และชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 รวมถึงตึกภักดีบดินทร์ ด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้า และที่ห้องภายในตึกนารีสโมสร ที่มีความกว้างขวางและพร้อมรองรับ

“ไม่เข้าใจถึงความต้องการดังกล่าว ถ้ามองในแง่ดี อาจจะมีการสื่อสารกันคาดเคลื่อน แต่อย่าลืมว่าทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่ที่ขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร แม้จะไม่ใช่ทุกอาคารก็ตาม แต่การจะมีดำริทำอะไรจะต้องมีการปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชนก็ถือเป็นองคาพยพหนึ่ง ที่ถือเป็นตัวแทนในการสื่อสารงานของรัฐบาลออกสู่สายตาประชาชน นักการเมืองมาแล้วก็ไป ไม่เข้าใจถึงความคิดดังกล่าว” อดีตข้าราชการอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาลรายหนึ่ง กล่าว