จากกรณีคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้มีมติให้มีการทบทวนประกาศ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ยังมีผลใช้บังคับในปัจจุบันโดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนความจำเป็น เหมาะสมของประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับต่างๆ ที่ยังคงมีผลใช้บังคับในปัจจุบัน โดยหากประกาศหรือคำสั่งใดสมควรให้คงมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไป หรือสมควรยกเลิก ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาโดยด่วนภายในวันที่ 9 ต.ค. นี้

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 66 ดร.พิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากลองไล่เรียง ค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประกาศหรือคำสั่ง คสช.-หัวหน้า คสช. พบว่ามีจำนวนตัวเลขสูงถึง 456 ฉบับ โดยมีสถานะการบังคับใช้เป็นกฎหมาย 132 ฉบับ และที่ไม่ใช่เป็นการออกกฎเกณฑ์ที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป 324 ฉบับ (เกี่ยวกับทางการบริหาร โยกย้าย-เรียกคนมารายงานตัวจำนวน 166 ฉบับ)

แต่มีการยกเลิกไปบางส่วน หรือยกเลิกเพราะเสร็จสิ้นภารกิจ หรือสิ้นผลไปในตัวเอง จนปัจจุบันยังคงเหลือประกาศหรือคำสั่ง จำนวน 132 ฉบับ โดยจำนวนนี้บางส่วนอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายใหม่ขึ้นใช้บังคับแทน เมื่อจัดทำกฎหมายเสร็จแล้วจะส่งผลให้มียกเลิกประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องไปในตัว อย่างไรก็ตามตัวเลขจำนวนประกาศหรือคำสั่งที่ชัดเจน อาจต้องรอผลการสรุปจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อีกครั้งหนึ่งซึ่งน่าจะมีความชัดเจนภายในวันที่ 9 ต.ค. 66

สำหรับทิศทางในการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ หรือคำสั่งของ คสช. และหัวหน้า คสช. ว่าสมควรให้คงมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไป หรือสมควรยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือไม่ อย่างไรนั้น ต้องอาศัยหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 มาพิจารณาว่าประกาศหรือคำสั่งที่ยังมีผลใช้บังคับในปัจจุบันมีสถานะที่มีเนื้อหามุ่งหมายใช้บังคับเป็นกฎหมาย หรือเป็นเพียงการแจ้งข้อความหรือข่าวสารให้ประชาชนทราบหรือเป็นเพียงการแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ ให้ทำหน้าที่ อันเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร เพราะหากประกาศหรือคำสั่งใดมีสถานะการบังคับใช้เป็นกฎหมาย การจะยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวต้องกระทำเป็นพระราชบัญญัติ

แต่หากมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหารย่อมสามารถกระทำได้โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรีนอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวยังมีความเหมาะสมและจำเป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือไม่

ดร.พิชิต กล่าวต่อไปว่า การที่ ครม. มีแนวทางที่จะทบทวนประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวที่ยังมีผลใช้บังคับในปัจจุบันที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้ โดยหลักการแล้วย่อมเป็นเรื่องที่ดีและมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว เพราะ 1.รัฐธรรมนูญ มาตรา 77 บัญญัติว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิก หรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวก และสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

2.สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และ 3.สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 วรรคแรก ตอนท้าย “…การยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ หรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศ หรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี”