เมื่อวันที่ 6 ต.ค. เวลา 12.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานทหารกองบิน 21 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ในการตรวจราชการ ณ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร และจังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ 6-7 ต.ค. โดยมี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ในฐานะแกนนำอุบลราชธานีพรรคเพื่อไทย นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมี สส.พรรคเพื่อไทย 4 คนในพื้นที่ มาให้การต้อนรับ 


ทั้งนี้เมื่อมาถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 21 นายกฯ เดินทางต่อด้วยรถยนต์โตโยต้าอัลพาร์ด ทะเบียน กฉ 5454 อุบลราชธานี มายังสำนักงานชลประทานที่ 7 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย สั่งการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย 

โดยนายกฯ กล่าวในที่ประชุมช่วงหนึ่งว่า จังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ข้างเคียงมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ซึ่งท่วมแล้ว ท่วมอีก ท่วมต่อไป เป็นที่ทราบกันดีอยู่ ตนเข้าสู่การเมือง ก็ตระหนักดีเสมอถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องหาทางแก้ไขบูรณาการระยะยาวให้ได้ ก็มีความเข้าใจและเห็นใจว่า ปัญหาใหญ่สะสมหมักหมมมานาน ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งที่ผ่านมามีน้ำท่วมที่ จ.แพร่ จ.สุโขทัย เยอะมาก เราอยู่ในช่วงเวลาของการเยียวยา และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งตามความเข้าใจของตน ทางจังหวัดอุบลราชธานี เพิ่งจะเริ่มท่วม ทั้งที่ยังไม่ถึงฤดูที่น้ำจะมามาก และจังหวัดอุบลราชธานียังไม่ถึงเวลาวิกฤติ แต่หากไม่ทำอะไรไว้ก่อนก็จะอาจเกิดวิกฤติขึ้นได้ และอาจจะเกิดกระทบภาคอุตสาหกรรมมหาศาล เรื่องโรคระบาดที่จะตามมาก็เป็นเรื่องใหญ่ 

นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลนี้ตระหนักดีว่า มันจะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ เราเพิ่งเข้ามาบริหารจัดการได้ไม่ถึงเดือน ฉะนั้นเรื่องนี้ในการแก้ไขปัญหาเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ซึ่งทางฝ่ายบริหารได้ลงพื้นที่ โดยกรมชลประทานลงถึง 2 ครั้งแล้ว ทั้งนี้ เชื่อว่าทุกคนพยายามแต่ขอให้คิดนอกกรอบ อย่าไปสรุปว่ามันต้องท่วม เราต้องการสะพานจากผู้บัญชาการแม่ทัพภาค 2 ต้องการเรือหรือวิธีการเตือนภัย หากเราคิดและสามารถทำไม่ให้ท่วม หรือให้ท่วมน้อยที่สุด หากท่วมแล้วระบายเร็วที่สุด ตนเชื่อว่าเวลายังพอมีอยู่บ้าง สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นระยะหลัง เกิดขึ้นในเดือน ต.ค. และเพิ่งเพิ่มช่วงเดือนนี้ ดังนั้น ตนคิดว่าช่วงที่แย่ที่สุดยังไม่มา ถือเป็นช่วงที่ดีเรายังมีทางป้องกันได้อยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนายกรัฐมนตรี รับฟังบรรยายสรุปจากนายเกรียง ปรากฏว่า มีเสียงบางอย่างรบกวน และในห้องประชุมมีการพูดคุยกัน เสียงดังรบกวน จึงทำให้นายกรัฐมนตรีถึงกับต้องพูดออกไมโครโฟนว่าขอให้เงียบและฟังรัฐมนตรีบรรยายสรุปด้วย.