เป็นอีกหนึ่งวัคซีนที่กำลังเป็ที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้ สำหรับวัคซีน “ไฟเซอร์” ที่จะมีการเปิดลงทะเบียนสำหรับนักเรียน อายุ 12-17 ปี ภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. มีมติเห็นชอบการให้บริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ด้วยความยินยอมของผู้ปกครอง โดยจะเริ่มภายในเดือนตุลาคมนี้

สำหรับ “วัคซีนไฟเซอร์” ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 และ WHO ให้การรับรองเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการอนุมัติเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ให้สามารถใช้ได้ในประเทศไทย เมื่อวัน 24 มิถุนายน 2564 นับเป็นวัคซีนโควิดรายที่ 6 ที่ผ่านการอนุมัติจาก อย.

“วัคซีนไฟเซอร์” เทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 เป็นชนิดสารพันธุกรรม (mRNA vaccines) เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันอีโบลา สำหรับกรณีโควิด-19 นี้ วัคซีนผลิตขึ้นจากการใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย mRNA จะเข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) ของไวรัสชนิดนี้ แล้วทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ออกมา ปัจจุบันมีสองเจ้าที่ใช้เทคโนโลยีนี้คือ BioNTech/Pfizer และ Moderna

ใช้วัคซีนไฟเซอร์ฉีดอย่างไร?
วัคซีนโควิดไฟเซอร์ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21-28 วัน ใช้วิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแขนด้านบน ภูมิคุ้มกันจะเริ่มเกิดหลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไปแล้ว 12 วัน แต่ภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่หลังจากฉีดครบ 2 เข็ม แต่ในปัจจุบันยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพในการป้องกันระยะยาวในกรณีที่ฉีดเข็มแรกเพียงเข็มเดียว

ประสิทธิภาพการป้องกัน
-หลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 แล้ว จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 สูงถึง 91.3% ในช่วง 7 วันถึง 6 เดือนหลังฉีด
-ป้องกันความรุนแรงของโรคได้ 100%
-ป้องกันการติดเชื้อมีอาการที่ 94%
-ป้องกันการติดโรค 96.5%
-ป้องกันการเสียชีวิต 98-100%

การเก็บรักษา
ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า -70 ºC ทำให้ยากต่อการขนส่ง ขณะที่หากเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้ 120 ชั่วโมง (5 วัน) 
ประเทศที่ใช้วัคซีน Pfizer : เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ นอร์เวย์ เซอร์เบีย สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล

นอกจากนี้ มีรายงานว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าว 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงประมาณ 4.7 คน และในสหรัฐอเมริกา ยังไม่พบผู้ที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันว่า หลังจากรับ “วัคซีนไฟเซอร์” แล้วจะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่นได้มากน้อยเพียงใด เพราะภายใน 10 วันหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรก อาจยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ เนื่องจากร่างกายยังไม่สามารถสร้างแอนติบอดี (Antibodies) ได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนวัดจากการทดลองทางคลินิก ซึ่งอาจมีการควบคุมกลุ่มทดลอง แต่ในการนำมาใช้กับประชากรจริง ประสิทธิภาพมีโอกาสที่จะต่ำกว่าผลที่สรุปในการทดลองเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การกลายพันธุ์ของไวรัส

อาการข้างเคียงแบบไม่รุนแรง หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่พบได้บ่อย
-อาการปวด บวม แดง คัน หรือช้ำ ตรงจุดที่ฉีดยา
-รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว ปวดหัวเล็กน้อย
-มีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและตามข้อ
-มีอาการคลื่นไส้
กรณีของวัคซีนโควิด-19 ประเภท mRNA พบว่า เข็มที่ 2 มีแนวโน้มอาการข้างเคียงรุนแรงมากกว่าเข็มแรก แตกต่างจากวัคซีนประเภท viral vector ที่เข็มที่สองมักจะมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าเข็มแรก

ในประเทศไทยโดยภาพรวมแล้ว พบอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนบ้าง แต่พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ในสัดส่วนที่น้อยมาก และเป็นผลข้างเคียงชนิดที่ไม่รุนแรง โดยส่วนมากสามารถหายได้เองหลังฉีดวัคซีนประมาณ 2–3 วัน

“อาการแพ้วัคซีนไฟเซอร์ ถือเป็นภาวะเร่งด่วน” ที่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแพทย์ทันที อาจมีดังนี้
-มีผื่นขึ้นตามตัว
-มีอาการคัน บวม ตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะใบหน้า ลิ้น และลำคอ
-เวียนศีรษะมาก
-หายใจลำบาก

อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวอาจไม่ใช่อาการทั้งหมดที่มีโอกาสเกิดได้ หากคุณมีอาการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด้านบน ควรติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ทันทีอีกด้วย..