สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ว่า นักวิทยาศาสตร์หลายคนกลัวว่า การระบาดของไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (เอชพีเอไอ) ครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ อาจลามไปถึงทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สำคัญของนกหลายชนิด

สถาบันสำรวจแอนตาร์กติกาแห่งสหราชอาณาจักร (บีเอเอส) ระบุว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินการเก็บตัวอย่าง จากซากนกสกัวสีน้ำตาล หลังพวกมันตายบนเกาะเบิร์ด ในเกาะเซาท์จอร์เจีย ซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ตั้งอยู่ทางตะวันออกของปลายสุดของทวีปอเมริกาใต้ และอยู่ทางเหนือของแผ่นดินหลักของทวีปแอนตาร์กติกา

บีเอเอสระบุในแถลงการณ์ว่า การทดสอบถูกส่งไปยังสหราชอาณาจักร และมีผลออกมาเป็นบวก โดยสถาบันคาดการณ์ว่า เชื้อไวรัสน่าจะติดมากับนกที่บินกลับจากการอพยพไปอเมริกาใต้ เนื่องจากทวีปนั้นมีสัตว์ปีกที่ติดเชื้อไข้หวัดนกจำนวนมาก

นางมิเชล วิลเล ผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดนก จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกไปยังภูมิภาคแอนตาร์กติกานั้น ถือเป็น “ข่าวร้าย” และสถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย

ขณะที่ นายเอียน บราวน์ หัวหน้าด้านไวรัสวิทยา ประจำสำนักงานสุขภาพสัตว์และพืชแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวเตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มันมีความเสี่ยงที่นกอพยพอาจแพร่เชื้อไวรัสจากทวีปอเมริกาใต้ ไปสู่หมู่เกาะในทวีปแอนตาร์กติกา และกระจายเข้าไปในแผ่นดินหลักต่อไป

นอกจากนี้ บราวน์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจพบไข้หวัดนกในทวีปแอนตาร์กติกา อาจเป็น “ความกังวลอย่างแท้จริง” สำหรับประชากรนกหลายสายพันธุ์ที่เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นในขั้วโลกใต้ เช่น เพนกวิน เนื่องจากพวกมันไม่เคยสัมผัสกับเชื้อไวรัสมาก่อน ส่งผลให้นกเหล่านี้ไม่มีภูมิคุ้มกัน และมีความเสี่ยงเป็นโรคไข้หวัดนกมากขึ้น.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES