เมื่อวันที่ 27 ต.ค. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 61 ราย ซึ่งเป็นกรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 จำนวน 59 ราย และกรณีพ้นจากตำแหน่ง จำนวน 2 ราย โดย น.ส.ภัสริน รามวงศ์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล โดยยื่นประวัติการทำงานย้อนหลัง 5 ปี โดยระบุว่าเมื่อปี 2563 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการโครงการฝ่าย Public Opinion ของสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา IPPD สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน กทม. และแจ้งสถานภาพสมรส กับนายปิติ รุ่งโรจนาลักษณ์ ผู้จัดการอาวุโสการพัฒนาธุรกิจ ใน COCONUTS MEDIA ที่ตั้งซอยทองหล่อ 5 ไม่มีบุตร โดย น.ส.ภัสริน แจ้งมีทรัพย์สินทั้งสิ้น 10,356,920 บาท เป็นทรัพย์สินของ น.ส.ภัสริน 2,116,710 บาท เป็นทรัพย์สินของนายปิติ 8,240,210 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 827,736 บาท  

น.ส.ภัสริน แจ้งรายการที่ดินมีโฉนด 1 แปลง ที่เขตบางกะปิ กทม. มูลค่า 4.48 ล้านบาท นอกจากนี้แจ้งรายการทรัพย์สินอื่นไว้มูลค่ารวม 1,454,500 บาท อาทิ ชุดแผ่นเสียง 154 แผ่น ชุดเครื่องเล่นแผ่นเสียง 1 เครื่อง องค์พุทธโสธรทองคำกรอบฝังเพชร 1 องค์ นาฬิกายี่ห้อโรเล็กซ์ 3 เรือน กีตาร์โปร่งและกีตาร์ไฟฟ้ารวม 6 ตัว โน้ตบุ๊ก 2 เครื่อง และเครื่องประดับสุภาพสตรี  

ทั้งนี้ น.ส.ภัสรินและนายปิติ แจ้งรายได้ประจำได้แก่ เงินเดือน เบี้ยประชุม ค่านายหน้า ส่วนรายจ่ายประจำ ที่ต้องจ่าย ได้แก่ ค่าอุปโภค ค่าน้ำมัน ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าน้ำค่าไฟ ค่ามือถือ ค่าส่วนกลางคอนโดฯ ค่าเช่าเครื่องน้ำ ค่าอาหารแมว-ทราย (6,000 บาท) ค่าอุปการะบิดา-มารดา ค่าท่องเที่ยว และค่าผ้าอนามัย (4,800 บาท )  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา น.ส.ภัสริน ได้ตั้งกระทู้ถามทั่วไปในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง แนวทางการยกเลิกภาษีผ้าอนามัย ต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง โดยระบุผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของคนมีประจำเดือน แต่ในประเทศไทยมีผู้หญิงจำนวนมากที่เผชิญภาวะการขาดแคลน ไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ เนื่องจากมีราคาที่สูงเกินไป เมื่อคิดรวมแล้วผู้มีประจำเดือน 1 คน จะเสียค่าใช้จ่ายซื้อผ้าอนามัยต่อเดือนประมาณ 150-300 บาท และตลอดช่วงชีวิตที่มีประจำเดือน จะต้องเสียค่าใช้จ่าย 67,200-134,400 บาท ดังนั้นการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยหรือการแจกผ้าอนามัยฟรี จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงการส่งเสริมสุขภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้น.