เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระแรก น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต่อที่ประชุมสภา ว่า จากการพิจารณาเอกสารกว่าหมื่นหน้า เกิดคำถามมาในใจว่าวิกฤติเศรษฐกิจแบบใด ทำไมงบไม่เหมือนวิกฤติ ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายค้านพูดเอง แต่เป็นตัวนายกฯ ที่ย้ำหลายครั้งหลายโอกาสว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤติแล้ว ถ้าเกิดจริง งบฯ จะเป็นตัวบอกว่า เรากำลังอยู่ในภาวะแบบใด แล้วจะจัดสรรงบฯ ตอบสนองอย่างไร ทั้งนี้จากรายงานเล่มขาวคาดม่วง เรื่องเศรษฐกิจและการคลังบอกว่า เศรษฐกิจปี 2566 จะโต 2% ปี 2567 จะโต 3.2% เงินเฟ้อระดับปกติ ขณะที่เอกสารงบประมาณฉบับประชาชน โดยสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับรองว่าเศรษฐกิจไม่วิกฤติแน่นอนเพราะอัตราขยายตัวของจีดีพีโต 5.4%

“จะเห็นว่าเล่มขาวคาดม่วงบอกว่าโต 3.2% แต่ฉบับประชาชนบอกกลับโต 5.4% ซึ่งสรุปว่าเป็นการเติบโตของจีดีพีที่ไม่ได้รวมผลเงินเฟ้อ ทั้งที่ทุกประเทศเวลาคำนวณจะใช้ผลจีดีพีที่ไม่รวมอัตราเงินเฟ้อ เท่ากับว่า รัฐบาลกำลังจะบรรลุเป้าหมายจีดีพีโต 5% ในปีแรกที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินด้วยการโกงสูตรอย่างนั้นหรือ ไม่มีประเทศไหนทำ ดังนั้นขอร้องว่าอย่าโกงสูตรเพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย แต่ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขโต 3.2% หรือ 5.4% ดูอย่างไรก็ไม่วิกฤติ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว    

ทั้งนี้ ตามปกติปีที่เกิดวิกฤติเราจะทำงบฯ ขาดดุลเพิ่มขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ เพราะจะได้มีการกู้มาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชดเชยส่วนที่หายไป เมื่อดูที่งบฯ ขาดดุลปี 67 จะต้องกู้เพื่อชดเชยขาดดุล 3.6% ขณะที่จีดีพีบอกว่าจะโต 3.5% ซึ่งถือว่าสูงได้ไม่ได้ชนเพดานเหมือนการกู้เมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติ แต่พอดูปีถัดไปๆ รัฐบาลทำแผนการคลังระยะกลางไว้ ก็ยังพบว่าขาดดุลเท่าเดิม จนดูไม่ออกว่า ปีไหนวิกฤติกันแน่ สรุปแล้วเราจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไปจนถึงปี 2570 เลยหรือไม่ ทำไมรัฐบาลประมาณการว่าเราจะต้องทำขาดดุล 3.4% ไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศไว้ว่าจะทำงบฯ ให้สมดุลภายใน 7 ปี หมายความว่าจะไม่กู้เลย แต่ใน 4 ปีแรกกู้ทุกปี ปีละ 3.4% เป็นอย่างต่ำ ซึ่งถ้ามันวิกฤติก็ไม่ว่า แต่ถ้าจะวิกฤติต่อเนื่อง 4 ปี ตนก็ไม่ไหวเหมือนกัน

สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ประกาศเมื่อเดือนพ.ค. 2566 ว่ามีแพ็กเกจใหญ่ 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการแจกประชาชน 5 แสนล้านบาท และเติมกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 1 แสนล้านบาท  ซึ่งเงินที่ทำมาใช้จะนำมาจาก เงินกู้ 5 แสนล้านบาท และงบฯ รายจ่ายประจำปี 1 แสนล้านบาท แต่ดูที่งบฯ 2567 งบดิจิทัลวอลเล็ตล่องหน ไม่ปรากฏในนี้แม้แต่บาทเดียว ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ จากที่ระบุว่า 1 แสนล้านบาท ก็เหลือเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท ชัดเจนว่า ถึงจะมีการตัดลดงบฯ ที่ต้องใช้คืนหนี้ธ.ก.ส.แล้ว แต่ยังไม่สามารถหางบมาเติมส่วนนี้ให้ครบ 1 แสนล้านบาทได้ ตกลงเรายังเชื่ออะไรดีอีกกับคำพูดของนายกฯ ขณะที่พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่เหลือให้พึ่งอย่างเดียวจะสามารถผ่านได้หรือไม่ และสรุปยอดกู้ต้องเพิ่มเป็น 5.8 แสนล้านบาทแล้วหรือไม่ เพื่อทำตามสัญญา ซึ่งเสี่ยงสูงมากหากไม่สามารถออกพ.ร.บ.เงินกู้ได้ เท่ากับเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า รัฐบาลปัจจุบันมีเวลารื้องบฯ 67 ถึง 2 รอบ แต่คงเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ง่ายเพราะมีแผนซ้อนแผน ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายของตนเองได้ง่าย และยังมีมรดกของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาที่ไม่ยอมปฏิรูปงบประมาณ ทำให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณของตนเองได้ไม่ถึง 1 ใน 4  เพราะติดประเด็นรายจ่ายบุคลากร, ชำระหนี้ 4 หมื่นล้านบาท, เงินชดใช้เงินคงคลัง 1.1 แสนล้านบาท, งบผูกพัน 3.6 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นเป็นผู้ดาวน์ และรัฐบาลนายเศรษฐา ต้องผ่อนต่อ

ทั้งนี้ การจัดสรรงบฯ มีข้อผิดพลาด คือ เพื่อเงินชดใช้เงินคงคลัง 1.2 แสนล้านบาท เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาถูกนำมาใช้เพื่อจ่ายในส่วนของรายจ่ายบุคลากร เช่น เงินเดือนบุคลากร บำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งในปี 2567 รัฐบาลปัจจุบันกำลังจะทำผิดพลาดซ้ำรอย เช่น เงินบุคลากร ที่ควรตั้งไว้ 3.6 แสนล้านบาท กลับตั้งไว้ 3.3 แสนล้านบาท เงินบำนาญ 6,000 ล้านบาทที่ไม่ตั้งไว้ ซึ่งตนสงสัยในความผิดพลาดดังกล่าวเป็นเพราะความตั้งใจหรือไม่ โดยตนเคยถามกรมบัญชีกลางขอไปเพียงพอจะจ่าย แต่การจัดสรรไม่เพียงพอ ถือเป็นความตั้งใจที่ตั้งขาดเพื่อหาเงินชดเชยภายหลัง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ซ้ำๆ โดยไม่ตั้งงบฯ ที่เพียงพอ ซอฟต์พาวเวอร์​ 5,000 ล้านบาท ไม่พบการตั้งไว้ คงต้องควักจากงบกลาง รวมถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่ไม่ตั้งชดเชยไว้ สงสัยต้องดึงจากงบกลาง ที่ตั้งไว้ 9.8 หมื่นล้านบาท หากพิจารณาแล้วเชื่อว่าจะไม่เพียงพอ ซึ่งการตั้งงบขาด ไม่มั่นใจว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดหรือไม่

สำหรับการประมาณการรายได้เชื่อว่าจะคาดการณ์ผิดพลาด และจัดเก็บไม่ตรงตามเป้าหมาย เพราะนายเศรษฐา เคยระบุว่า จะไม่เก็บภาษีขายหุ้น คำถามคือ รายได้จากส่วนดังกล่าวที่กำหนดไว้ 1.4 หมื่นล้านบาทจะหาจากที่ไหน​ ตนไม่มีปัญหาสิ่งที่รัฐบาลทำ แต่เชื่อว่าจะกระทบต่อรายได้รัฐ ที่อาจจะหายไป 1 แสนล้านบาท หากรัฐบาลฝากความหวังไว้ที่โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรผิดพลาด ดังนั้นตนขอให้พูดความจริงกับสภา และประชาชน

นอกจากนี้เรื่องหนี้สาธารณะ ก็ต้องกังวลเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปี เพราะเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าประมาณการจากกรอบการคลัง ตรงนี้จะต้องเบียดบังงบฯ แต่ละปี ซึ่งยังไม่รวมหนี้ดิจิทัลวอลเล็ต และหนี้ที่ยืมจากรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐ 1 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลบริหารงานมา 3 เดือนใช้เต็มเพดานแล้ว ดังนั้นตนประเมินว่ารัฐบาลไม่เป็นมืออาชีพจากที่เคยมีชื่อเสียงว่าเป็นรัฐบาลที่หาเงินเป็น และมุ่งใช้กลไกนอกงบฯ โดยไม่สนใจกับภาระทางการคลัง ซึ่งตนมองว่าประชาชนต้องคิดใหม่กับฝีมือการบริหารราชการของพรรคเพื่อไทย.