อแมนดา โบรชู เจ้าของบ้านสาวจากฟลอริดา ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ WFTV9 ถึงกรณีที่เธอตกเป็นผู้เสียหายจากการกระทำของแก๊งต้มตุ๋นเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ทำให้ทางเข้าบ้านของเธอ “หายไป” และยังไม่มีการชดใช้คืน

โบรชู เล่าว่า ก่อนหน้านี้ เธอนำบ้านไปลงประกาศขายในช่วงเดือน ธ.ค. 2566 หลังจากที่ได้ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านไปหลายจุด เช่น หลังคาบ้าน 

ต่อมาไม่นานนัก ลูกชายของเธอก็รู้สึกผิดสังเกต ที่เห็นทีมผู้รับเหมามาวัดขนาดทางเข้าบ้านของเธอถึง 5 ทีมด้วยกัน ทั้งที่ครอบครัวของเธอไม่ได้ติดต่อใครให้มาทำงานเทคอนกรีตพื้น

ผู้รับเหมารายหนึ่งอธิบายว่า มีผู้ชายคนหนึ่งชื่อว่า “อังเดร” อ้างตัวว่าเป็นเจ้าของบ้าน และขอให้เขาช่วยคำนวณราคาการปรับปรุงทางเข้าบ้านของ โบรชู เสียใหม่ โดยตกลงราคากันที่ 7,200 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 252,000 บาท) และบอกให้ลงมือทำได้เลย 

ความมาแตกเมื่อ นายอังเดร อ้างว่าเขาจ่ายเงินค่ามัดจำให้ไม่ได้ ทางผู้รับเหมาจึงขอให้เขาจ่ายเงินเต็มจำนวน และส่งหลักฐานมาให้ดูเพื่อยืนยันว่าเขาเป็นเจ้าของบ้านตัวจริง ทว่า อังเดร ไม่ยอมตอบกลับข้อความของเขา และขาดการติดต่อไปหลังจากนั้น

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ เขาก็อธิบายว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิด โดยอ้างว่าเขาให้ที่อยู่ผิด ผู้รับเหมาจึงไปทำงานผิดบ้าน ส่งผลให้มีการทุบทำลายทางเข้าบ้านของ โบรชู จนเหลือแต่พื้นที่เป็นดิน 

ด้านนายหน้าขายบ้านของ โบรชู ก็ค้นพบในเวลาต่อมาว่า เหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้ กล่าวคือมีงานก่อสร้างหรือต่อเติม ปรับปรุงบ้านที่ถูกทิ้งไว้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง 

ปรากฏว่า โบรชู ตกเป็นผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการลงมือของแก๊งต้มตุ๋นแนวใหม่ ซึ่งจะคอยมองหาบ้านที่ประกาศขาย และจะพุ่งเป้าไปที่บ้านที่ไม่มีคนอยู่เป็นพิเศษ เพราะไม่มีคนมาซักถามหรือขัดขวาง ทำให้ลงมือได้สะดวก

เมื่อมิจฉาชีพเจอบ้านที่เหมาะแล้ว ก็จะแกล้งทำตัวเป็นเจ้าของบ้าน ทำการติดต่อไปยังทีมผู้รับเหมาหลายราย เพื่อให้ประเมินราคาก่อสร้างหรือปรับปรุงบ้าน เช่น เปลี่ยนหลังคา, ทาสีบ้าน หรือทำทางเข้าบ้านใหม่เช่นในกรณีของ โบรชู 

หลังจากนั้น คนร้ายก็จะจ่ายเงินเป็นเช็ค ในจำนวนที่มากกว่าราคาที่ตกลงไว้กับผู้รับเหมา แล้วอ้างว่าตัวเองเขียนผิด และขอให้ผู้รับเหมาจ่ายเงินส่วนต่างคืนมาให้โดยตรง ขณะที่เช็คใบนั้นก็จะกลายเป็นเช็คเด้ง ที่ไม่สามารถนำไปขึ้นเงินได้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากตกลงราคาเปลี่ยนทางเข้าบ้านไว้ที่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้รับเหมาก็อาจจะได้รับเช็คที่สั่งจ่ายเงินในจำนวน 12,500 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้น มิจฉาชีพก็จะเสแสร้งทำเป็นว่าตัวเองเขียนเช็คสั่งจ่ายผิดจำนวน ขอให้ผู้รับเหมาจ่ายเงินที่เป็นส่วนต่างจำนวน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ เข้ากระเป๋าของมิจฉาชีพ ขณะที่เจ้าของบ้านตัวจริงก็จะกลับมาเจอบ้านตัวเองพร้อมหลังคาใหม่, บ้านที่เปลี่ยนสีใหม่ไปแล้ว หรือทางเข้าบ้านที่หายไป เช่นในกรณีของ โบรชู

ที่มา : autoblog.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES