เมื่อเวลา 15.40 น. วันที่ 11 ม.ค. ที่ จ.เชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เห็นชอบให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ว่า ตนเชื่อว่าทางกรมราชทัณฑ์ได้รับการเสนอเรื่องมาจากโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งสิทธิของผู้ป่วยต้องมีด้วย และตนก็มั่นใจว่ากรมราชทัณฑ์พิจารณาดูดีแล้ว และทางกระทรวงยุติธรรมก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอน 

เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่เนื่องจากจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่ต่อต้านในเรื่องดังกล่าว นัดปักหลักชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12-14 ม.ค. และในวันที่นายกฯ นอนค้างทำเนีบบรัฐบาลในวันที่ 24 ม.ค.นี้จะขอผู้ชุมนุมหรือไม่ว่าอย่าเอาการเมืองมาโยงให้เกิดความไม่สงบในช่วงที่กำลังฟื้นตัวเศรษฐกิจ  นายกฯ กล่าวว่า ตนคิดว่าพวกท่านรู้ ว่าเราทำหน้าที่อะไรในตอนนี้ และเป็นไปตามกระบวนการ ทางกรมราชทัณฑ์ก็ทำเรื่องแล้ว โรงพยาบาลตำรวจก็ตอบแล้ว ขณะที่ทางคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ก็จะเข้าไปตรวจสอบ ถือว่ามีกระบวนการตามกฎหมายที่ถูกต้อง ตนว่าอย่าให้เกิดความไม่สงบเกิดขึ้นเลย ซึ่งก็แล้วแต่ เพราะก็ถือเป็นสิทธิของแต่ละคน ย้ำว่าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ขอใช้คำว่าไม่อยากให้เกิดบรรยากาศทำนองนี้เกิดขึ้นจะดีกว่า เพราะเราเองก็พยายามจะทำให้มันดีขึ้น  ผู้สื่อข่าวก็เห็นว่าเราพยายามทำอย่างเต็มที่ทุกรายละเอียด และต้องเข้าใจว่ามีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำต่อ แล้วตนก็พยายามทำต่อไม่ได้หยุดยั้ง หลังจากลงพื้นที่วันเดียวกันนี้ ก็ต้องไปประชุมเพื่อสรุปว่าต้องทำอะไรกันต่อ ซึ่งในที่ประชุมที่สื่อเข้าไปด้วยก็เห็นว่าไม่ใช่ว่าหลายเรื่องนั้นราบรื่น  บางเรื่องงบประมาณยังขาดดุลต้องใช้งบสนับสนุนจากภาครัฐ 

เมื่อถามต่อว่า ต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาควบคุมสถานการณ์หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนมั่นใจฝ่ายความมั่นคงเขาจะดูแลอย่างดี ไม่เป็นอะไร

เมื่อถามย้ำว่า กังวลหรือไม่ที่จะทำให้การทำงานไม่ราบรื่น นายกฯ กล่าวว่า กังวลทุกเรื่อง ทั้ง PM 2.5 การท่องเที่ยว และเรื่องม็อบ ก็กังวลเหมือนกันทุกเรื่อง เพราะแบกความคาดหวังของประชาชน 70 ล้านกว่าคน เรามีหน้าที่ที่ต้องทำก็ต้องทำกันไป หน้าที่ของตน ก็พยายามทำให้ดีที่สุด และหน่วยงานต่างๆ ก็พยายามทำดีที่สุด ซึ่งต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ตรงไหนให้คำแนะนำได้ ตรงไหนที่ต้องพูดก็ต้องพูด.