นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า ในวันที่ 6 ก.พ. 67 ขร. จะประชุมหารือร่วมกับกรมรถไฟ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อสรุปในประเด็นกฎระเบียบในการเดินรถไฟระหว่างไทย-สปป.ลาว ในช่วงท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของทางรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้ง หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการหารือเบื้องต้นแล้ว คาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองเดินรถจากสถานีหนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ระยะทาง 13 กม. ได้ในเดือน ก.พ. 67 จากนั้นจะเปิดบริการเดินรถจริงในเดือน เม.ย. 67 ค่าโดยสารประมาณ 60-70 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที 

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังมีเรื่องการทำพิธีการตรวจคนเข้าเมือง สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางข้ามแดนจากประเทศไทยไปยังเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) สปป.ลาว ที่จะต้องหารือให้ได้ข้อสรุป เพื่อในอนาคตจะได้มีการประทับตราตรวจคนเข้าเมืองเพียงครั้งเดียวที่หนองคาย หรือที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว จากปกติต้องประทับตราที่ จ.หนองคาย ประเทศไทย 1 ครั้ง และที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว 1 ครั้ง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ผู้โดยสาร นอกจากนี้ ต้องเตรียมพนักงานขับรถของไฟของ สปป.ลาว เพื่อเปลี่ยนตัวพนักงานขับรถไฟของไทยที่สถานีหนองคาย เบื้องต้นทราบว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ฝึกอบรมภาคทฤษฎีหลักสูตรการขับรถจักร ภาคปฏิบัติหลักสูตรการขับรถจักร และการใช้ระบบจำหน่ายบัตรโดยสารให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาวแล้ว เมื่อเปิดบริการสามารถดำเนินการได้ทันที

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า รฟท. ได้ฝึกอบรมการขับรถจักรของไทย ให้แก่พนักงานขับรถไฟของ สปป.ลาว แล้ว 9 คน เพื่อทำหน้าที่ขับรถไฟแทนคนขับของ รฟท. ในช่วงการเดินรถจากสถานีหนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ซึ่งจะมีการเปลี่ยนตัวพนักงานขับรถที่สถานีหนองคาย ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนตัวพนักงานขับรถนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความยุ่งยาก เพราะหากพนักงานขับรถของไทย เดินรถเข้าไปยังฝั่ง สปป.ลาว แล้วเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเหตุใดๆ ขึ้น พนักงานขับรถไฟฝั่งไทยต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายของ สปป.ลาว และต้องขึ้นศาลของฝั่ง สปป.ลาว ด้วย

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า การให้บริการเดินรถต่อขยายไปถึงเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) จะทำให้คนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ สามารถเดินทางด้วยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ได้อย่างสะดวกสบาย โดยสามารถเดินทางไปกับขบวนรถที่ให้บริการในปัจจุบัน เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย ให้บริการวันละ 6 ขบวน (ไป-กลับ) ซึ่งเตรียมจะเปลี่ยนเส้นทางเป็น กรุงเทพ-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ได้ โดยในระยะแรกจะให้บริการวันละ 2 ขบวน (ไป-กลับ) ก่อน ทั้งนี้ขบวนรถดังกล่าวมีให้บริการทั้งชั้น 1, ชั้น 2 และชั้น 3 นอกจากนี้ ยังสามารถใช้บริการขบวนท้องถิ่นที่ให้บริการในปัจจุบัน เส้นทางหนองคาย-ท่านาแล้ง ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นหนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ให้บริการวันละ 4 ขบวน (ไป-กลับ) ได้ด้วย

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า เมื่อเดินทางด้วยรถไฟถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แล้ว ผู้โดยสารสามารถใช้บริการรถโดยสารขนส่งสาธารณะ ซึ่ง สปป.ลาว ได้จัดเตรียมไว้คอยบริการ อาทิ รถตู้ รถสามล้อ และรถแท็กซี่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารในการเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่ตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์ได้ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 7-9 กม. โดยที่นครหลวงเวียงจันทน์ มีประตูชัยเป็นอนุสรณ์สถาน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ตั้งอยู่ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ โดยเป็นสถานที่ยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเยือน เมื่อมาถึงเวียงจันทน์

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันขบวนรถไฟเส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย ระยะทาง 614 กม. ให้บริการวันละ 6 ขบวน (ไป-กลับ) โดยมีทั้งขบวนรถด่วน รถด่วนพิเศษ และรถเร็ว ใช้ระยะเวลาการเดินทางประมาณ 9-10 ชั่วโมง (ชม.) สำหรับรถด่วน ชั้น 3 (รถนั่งพัดลม) ค่าโดยสาร 251 บาท ชั้น 2 (รถนั่งปรับอากาศ) ค่าโดยสาร 494 บาท, รถด่วนพิเศษ ชั้น 1 (ปรับอากาศนั่งและนอน) ค่าโดยสาร 1,350-1,550 บาท ชั้น 2 (ปรับอากาศนั่งและนอน) ค่าโดยสาร 894-994 บาท และรถเร็ว ชั้น 3 (รถนั่งพัดลม) ค่าโดยสาร 211 บาท เมื่อรวมค่าโดยสารจากหนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) 13 กม. อีก 60-70 บาท จะตกประมาณ 271-281 บาท ไม่ถึง 300 บาท.