หลายคนคุ้นเคยกับการมีส่วนร่วมของมนุษย์ ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และอาจรวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ แต่มันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมประการที่สาม ซึ่งไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควรด้วย นั่นคือ การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ความเสื่อมโทรมของที่ดิน

โลกกำลังสูญเสียที่ดินที่สามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากฝีมือของมนุษย์ ตั้งแต่การทำเกษตรกรรมแบบเข้มข้น และการเลี้ยงปศุสัตว์มากเกินไป ไปจนถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งวิกฤติดังกล่าว เพิ่มความรุนแรงของความไม่มั่นคงด้านอาหารและนํ้า ตลอดจนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้น

กระนั้นบรรดานักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหานี้ อันที่จริง การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือ “เอิร์ธ ซัมมิต” ซึ่งจัดขึ้นที่ เมืองรีโอเดจาเนโร ของบราซิล เมื่อปี 2535 ได้นำไปสู่การสร้างอนุสัญญาของยูเอ็น 3 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี), อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ซีบีดี) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (ยูเอ็นซีซีดี)

แม้ซีบีดี และยูเอ็นซีซีดี รวมอยู่ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “คอป” แต่มันถูกกล่าวถึงเพียงครั้งเดียวในทุก 2 ปี และไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก ซึ่งนายอิบราฮิม เทียว เลขาธิการของยูเอ็นซีซีดี กล่าวว่า มันเป็นการเสียโอกาส และอาจเป็นปัญหาด้านการสร้างภาพจำ เพราะผู้คนคิดว่า ยูเอ็นซีซีดี เป็นเรื่องเกี่ยวกับทะเลทรายเท่านั้น

“มันมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่า การแปรสภาพเป็นทะเลทราย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราใช้คำว่า ‘ความเสื่อมโทรมของที่ดิน’ ” เทียว กล่าวเพิ่มเติม

อนึ่ง ผืนดินของโลกประมาณ 40% หรือราว 5,000 ล้านเฮกตาร์ ถูกใช้ในการเกษตร โดย 1 ใน 3 ของจำนวนข้างต้น เป็นพื้นที่ปลูกพืช ส่วนที่เหลือมีไว้เพื่อเลี้ยงปศุสัตว์ แต่น่าเสียดายที่โลกไม่มีประวัติที่ดี สำหรับแนวปฏิบัติด้านเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ซึ่งตลอดช่วง 500 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม ทำให้ที่ดินเสื่อมสภาพเกือบ 2,000 ล้านเฮกตาร์

นอกเหนือจากความท้าทายในการผลิตอาหาร ความเสื่อม โทรมของที่ดินยังมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 500,000 ล้านตัน หรือประมาณ 25% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เลวร้ายกว่าเดิมในปัจจุบัน

เทียว กล่าวเสริมว่า การมุ่งความสนใจไปยังโครงการฟื้นฟูผืนดิน อาจพลิกสถานการณ์นี้ได้ เนื่องจากการแก้ไขความเสื่อมโทรมของที่ดิน มีประโยชน์ต่อปัญหาอื่น ๆ ที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่

ทั้งนี้รายงานของการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก “เวิลด์ อีคอนอมิก ฟอรั่ม” พบว่า นอกจากการควบคุมการปล่อยมลพิษแล้ว การลงทุนในการฟื้นฟูระบบนิเวศ มูลค่าประมาณ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 97 ล้านล้านบาท), ระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู และโมเดลธุรกิจหมุนเวียน สามารถช่วยเพิ่มงานใหม่ได้เกือบ 400 ล้านตำแหน่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 361 ล้านล้านบาท).

แมวแว่น
[email protected]