โดยธนาคารเดินหน้าการทำงานสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งปรับการดำเนินงานของธนาคาร ด้วยมาตรฐานสากล การส่งมอบสินเชื่อและเงินลงทุนด้านความยั่งยืน ที่จะไปสู่ยอด 100,000 ล้านบาท ในปี 67

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า “การประชุม COP 28 ที่ผ่านมา ประชาคมโลกบรรลุ ข้อตกลงที่จะเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะส่งแรงกดดันลงไปสู่ภาคธุรกิจในวงกว้าง แน่นอนว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยกฎระเบียบทางการค้าที่ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน จะทยอยบังคับใช้เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินค้าส่งออกของไทยประมาณ 40-45%”

นอกจากนี้ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของไทย ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา กำหนดให้ภาคธุรกิจต้องวัดผลและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (MRV) มาตรการจำกัดสิทธิผู้ประกอบการเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากสินค้าภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการทำธุรกรรมเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะกระทบกับผู้ประกอบธุรกิจในวงกว้าง

ไม่เพียงเท่านี้ จากการที่โลกธุรกิจกำลังเข้าสู่ยุค Climate Game ที่ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทำให้สมการธุรกิจเปลี่ยนไป มูลค่าของธุรกิจจากรายได้ธุรกิจแบบดั้งเดิม จะถูกลดทอนด้วยปัจจัยเชิงลบที่ธุรกิจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากการทำธุรกิจที่ได้ปัจจัยบวกด้านสิ่งแวดล้อมผู้ประกอบการจึงต้องตระหนักและปรับตัวให้ทันเพื่อรับมือกับเกมนี้

ทั้งนี้ธนาคารได้ดำเนินการผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก เริ่มจาก

กลยุทธ์ที่ 1 Green Operation ธนาคารปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope 1-2) เป็น Net Zero ด้วยมาตรฐานสากล โดยธนาคารเริ่มมีการพัฒนาระบบข้อมูลก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต ตั้งแต่ปี 55 เป็นต้นมา โดยมีผลการทำงานถึงปัจจุบัน ได้แก่ ธนาคารมีการติดตั้ง Solar Rooftop ที่อาคารหลักของธนาคาร 7 แห่ง และจะติดตั้งที่สาขาย่อย จำนวน 78 สาขา ภายในเดือน มิ.ย. 67 นี้ รวมถึงมีการเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ในธุรกิจธนาคารจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 183 คัน โดยในปี 66 ธนาคารสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 12.74% ทั้งยังมีการจัดการด้านคาร์บอนเครดิต โดยเป็นกลางทางคาร์บอนมาแล้ว 6 ปีต่อเนื่อง และตั้งเป้าหมายเป็นเน็ตซีโร่ ใน Scope 1 & 2 ภายในปี 73

กลยุทธ์ที่ 2 Green Finance ธนาคารนำความแข็งแกร่งด้านสินเชื่อและเงินลงทุนมาสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านอย่างครบวงจร ได้แก่ 1.การให้สินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อม (Green Loan) และการให้สินเชื่อเพื่อปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจในการเปลี่ยนผ่าน 2.การจัดสรรเงินลงทุนของธนาคารในธุรกิจและสตาร์ตอัพที่สร้างผลกระทบเชิงบวก 3. การนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนทั้งของธนาคารและพันธมิตรระดับโลก เพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนไปสนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยธนาคารส่งมอบเม็ดเงินสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปแล้ว 73,397 ล้านบาท (ปี 65-66) และคาดว่าจะมียอดรวมเป็น 100,000 ล้านบาท ภายในปี 67 นี้ และจะเป็น 200,000 ล้านบาท ภายในปี 73 ตามเป้าหมาย

ส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอของอุตสาหกรรมหลักที่ธนาคารให้ความสำคัญในการควบคุมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้วางแผนกลยุทธ์รายอุตสาหกรรมไปแล้ว 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติ ต้นนํ้า กลุ่มเหมืองถ่านหินประเภทเชื้อเพลิงให้ความร้อน กลุ่มซีเมนต์ และกลุ่มอะลูมิเนียม พบว่า มีความคืบหน้าที่วัดผลได้ อาทิ พอร์ตโฟลิโออุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ซึ่งธนาคารสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว จำนวน 3,800 ล้านบาท ปัจจุบันธนาคารมีระดับความเข้มข้น ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในพอร์ตนี้ลดลง 5% ในปี 66 เมื่อเทียบกับปีฐานปี 63 สอดคล้องกับแผนที่วางไว้

กลยุทธ์ที่ 3 Climate Solutions โซลูชันด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจรโดยอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตร ประกอบด้วย โซลูชันการส่งมอบและบูรณาการองค์ความรู้จากสถาบันชั้นนำ โดยทดลองออกบริการนำร่องแล้ว เช่น WATT’S UP เป็นแพลตฟอร์มรองรับการเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร รวมถึงบริการสลับแบตเตอรี่ผ่านจุดบริการ “ปันไฟ” แอปพลิเคชันที่เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทยและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พัฒนาขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนไฟฟ้าแห่งแรกของไทย ที่ตอบโจทย์การใช้งานครบทุกมิติ รองรับการใช้งานทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ

กลยุทธ์ที่ 4 Carbon Ecosystem ธนาคารเตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อใน Carbon Ecosystem เพื่อการพัฒนาบริการไปอีกขั้นในธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์บอนเครดิต โดยศึกษาและดำเนินการซื้อคาร์บอนเครดิตสำหรับการชดเชยทางคาร์บอนของธนาคารและบริษัทในกลุ่มฯ เพื่อสนับสนุนคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพ และมีความมุ่งหวังที่จะเป็นตัวอย่างและร่วมผลักดันให้ตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยเติบโตและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

“การทำงานด้าน Climate Change ในระดับประเทศให้บรรลุผลได้นั้น ต้องอาศัยพลังจากทุกคนร่วมมือทำสิ่งนี้ไปด้วยกัน จึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง ธนาคารกสิกรไทยพร้อมที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการศักยภาพต่าง ๆ อันจะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจไทยให้สามารถเดินหน้าไปสู่โลกธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงคว้าโอกาสในเวทีเศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ไปด้วยกัน” นายพิพิธ กล่าวทิ้งท้าย.

ทีม Sustainable daily
[email protected]