ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย โดย “พรพรหม วิกิตเศรษฐ์” ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (CSO) คนแรกของไทย ระบุว่า กรุงเทพมหานคร ได้สนับสนุนโครงการความร่วมมือการจัดการขยะพลาสติกในแม่นํ้าเจ้าพระยาด้วยเครื่องอินเตอร์เซพเตอร์ หรือเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ ดำเนินการโดยองค์กร The Ocean Cleanup แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากร
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สำหรับโครงการฯ นี้จะทำการติดตั้งเครื่องอินเตอร์เซพเตอร์ ในแม่นํ้าเจ้าพระยาบริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ถนนพระราม 3 เขตบางคอแหลม และนำเรือขนถ่ายลำเลียงขยะ ติดตั้งอุปกรณ์ จำนวน 1 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเก็บขยะ เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนก.พ. 67-ม.ค. 68 และรถบรรทุกขนถ่ายลำเลียงขยะ จำนวน 1 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนก.พ.-ก.ค. 67 ซึ่งขยะที่จัดเก็บได้จะนำไปศึกษาวิจัยปริมาณขยะพลาสติกในแม่นํ้าเจ้าพระยาต่อไป

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่รับผิดชอบรักษาความสะอาด จัดเก็บขยะและวัชพืชในแม่นํ้าเจ้าพระยา พื้นที่การปฏิบัติงานตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงวัดโยธินประดิษฐ์ สุดเขตบางนา ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร จัดเก็บทั้ง 2 ฝั่งแม่นํ้า และกลางแม่นํ้าเจ้าพระยา โดยวัชพืชและขยะที่จัดเก็บได้จะนำไปขึ้นที่ท่าเรือ 3 แห่ง ได้แก่ ปากคลองบางกอกน้อย (ใต้สะพานอรุณอมรินทร์) ใต้สะพานพุทธ (คลองโอ่งอ่าง) และใต้สะพานพระราม 9 (ฝั่งพระนคร) จากนั้นจะนำวัชพืชและขยะไปกำจัดที่สถานีกำจัดมูลฝอยหนองแขม ประเภทมูลฝอยที่จัดเก็บได้ ส่วนใหญ่เป็นวัชพืชและผักตบชวา โดยเฉพาะฤดูฝนหรือ ฤดูนํ้าหลาก (ระหว่างเดือนต.ค.-มี.ค.) จะมีผักตบชวาจำนวนมาก จึงทำให้ไม่สามารถจัดเก็บได้หมดอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น ๆ

นอกจากนี้กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดสุดท้ายที่มีมูลฝอยและวัชพืชลอยออกสู่อ่าวไทย กำหนดเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. เป็นประจำทุกวัน ปริมาณมูลฝอยที่จัดเก็บได้ พบว่ามีปริมาณทั้งหมด 3,146.16 ตัน เฉลี่ยวันละ 8.62 ตัน (ต.ค. 2564-ก.ย. 65)

สำหรับการทำงานของเครื่อง Interceptor ประกอบด้วย แผงทุ่นลอยนํ้าที่โยงติดกับโรงเก็บขยะ ซึ่งมีลักษณะคล้ายแพเรือที่ทอดสมออยู่ในแม่นํ้า ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์และทำงานด้วยระบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ในการควบคุม คิดค้นโดยองค์กร The Ocean Cleanup (TOC) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก ดำเนินการด้านการจัดการขยะในทะเลจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เป็นเครื่องดักขยะที่ช่วยลดปริมาณขยะในแม่นํ้าเจ้าพระยาก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล สามารถเก็บขยะได้วันละ 50,000-100,000 ชิ้น.