เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยถึงนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในการประชุมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประจำเดือนก.พ. ณ ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มีการเน้นย้ำสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับการป้องกัน ปราบปรามผู้ค้า ควบคู่กับการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด เพื่อเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นในสังคมไทย.นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหายาเสพติดยังคงส่งผลกระทบต่อสังคมไทย ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการสรรพกำลัง และร่วมกันวางแผนเพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดเหล่านี้ให้หมดไปจากสังคม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีเป้าหมายในการมุ่งลดความเดือดร้อนของประชาชน และการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้านจิตเวชอย่างจริงจัง โดยเน้นกลไกการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับจังหวัดที่มีการวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงมีการขยายการมีส่วนร่วมจากชุมชน ซึ่งความสำเร็จของการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่สำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางในการขยายการมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมนำหลักการมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย และนำตัวผู้ค้าหรือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาดำเนินคดี ตลอดจนยึดทรัพย์ที่ผิดกฎหมาย.

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญนอกจากการดำเนินการเชิงรุกในการนำตัวผู้ค้า และผู้ป่วยยาเสพติดมาดำเนินคดี และเข้าสู่กระบวนการบำบัด รักษา และฟื้นฟู คือ การ Re X-Ray ค้นหาผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง ที่มีสาเหตุมาจากการเสพยาเสพติด หรือ การดื่มสุราเรื้อรัง โดยให้จังหวัดเร่งวางระบบ และทำการค้นหาในระยะเร่งด่วนตั้งแต่ 1 – 31 มี.ค. นี้ เพื่อผู้ป่วยยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด รักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคม ที่กรมการปกครองได้จัดเตรียมไว้ โดยไม่ต้องเน้นการบำบัด รักษา ที่เป็นลักษณะรุ่น ให้ดำเนินการเข้าสู่กระบวนการบำบัดทันที และให้มีการเตรียมทีมดำเนินการติดตามในพื้นที่ให้พร้อม โดยขอให้มีการวางระบบรายงาน ติดตามเชิงรุก สามารถมองเห็นความคืบหน้า การขับเคลื่อนงาน ปัญหาอุปสรรค และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เพื่อ “แยกปลาออกจากน้ำ” ตัดวงจรยาเสพติดให้หมดไป.“การป้องกันและปราบปรามที่ผ่านกระทรวงมหาดไทยมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกับ ป.ป.ส. เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานด้านความมั่นคงในระดับพื้นที่ ในการจัดทำฐานข้อมูลผู้ค้ารายย่อยทุกพื้นที่ พร้อมตรวจค้น Re X-Ray จากแหล่งข่าวในพื้นที่ โดยเฉพาะในการตรวจค้น ป้องปราม ตั้งจุดตรวจจุดสกัดผู้ต้องสงสัยที่อาจยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด พร้อมทั้งขยายผลผู้ค้ายาเสพติดไปสู่การยึดทรัพย์ โดยดูความผิดปกติจากรายได้ของผู้มีพฤติการณ์ผู้ต้องสงสัย ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ธนาคาร รวมทั้งได้สั่งการทุกจังหวัดให้เรื่องสำคัญกับการจัดตั้งศูนย์บัญชาการ (War Room) ในระดับต่าง ๆ ที่มีการเร่งรัดดำเนินงานและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรายงานผลการสนับสนุนภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกวดขัน ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อป้องกัน และตรวจค้นผู้ต้องสงสัยเชิงรุก ซึ่งในวันนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดกำชับนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยกันสอดส่องดูแลคนในชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่มีต้นเหตุมาจากยาเสพติด รวมถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ให้มีการดำเนินการเชิงรุก ในลักษณะการรวมกลุ่มด้วยความรัก และความสามัคคีตามแนวทางของหมู่บ้านยั่งยืน นอกจากนี้ ขอให้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโทษของยาเสพติดอย่างต่อเนื่องทุกช่องทางโดยเฉพาะหอกระจายข่าว สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ รวมถึงการประชุมชี้แจง ในทุกโอกาส โดยแต่ละพื้นที่อาจขอความร่วมมือจาก Influencer ในพื้นที่ ให้การสนับสนุนช่วยกันผลิตสปอตโฆษณา สปอตเสียง เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ด้วยอีกทาง เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความตื่นตัวกับเรื่องปัญหายาเสพติด” ปลัดมท.กล่าวเน้นย้ำ.

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จในเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด คือ การบูรณาการองคาพยพในพื้นที่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สาธารณสุขจังหวัดและอำเภอดำเนินการค้นหาผู้ที่มีความผิดปกติเรื่องจิตเภท อันเกิดจากยาเสพติด รวมถึงสุรา โดยนำข้อมูลเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล ภายใน 31 มี.ค. ตลอดจนใช้กลไกของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ในการนำผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดตลอดทั้งปี เพื่อแยกปลาออกจากน้ำหรือตัดวงจรยาเสพติด หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในส่วนของการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติดและผู้ค้ารายย่อย สิ่งสำคัญ คือ นายอำเภอจะต้องมีข้อมูลจากโต๊ะข่าว เพื่อให้สามารถดำเนินการตรวจค้นจับกุมผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ทุกราย รวมทั้งดำเนินการกับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากน้ำกระท่อม กัญชา ที่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และสิ่งผิดกฎหมายอื่น เช่น บุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งค้นหาเบาะแสยาเสพติดอย่างต่อเนื่องโดยทุกจังหวัดและอำเภอต้องวางระบบในการป้องกันและปราบปรามอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ขอให้กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการ “กองทุนป้องกันยาเสพติดแบบภาคประชาชน” ให้ครบทุกหมู่บ้าน โดยเอารูปแบบหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อให้มีการรวมกลุ่ม มีคณะทำงานรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อเป็นแนวทางเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน รับเงินขวัญถุงพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อให้ทุกส่วนได้ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเข้มข้นและเข้มงวด เพื่อสนองคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ

“เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 ก.ค.ขอให้ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ และทุกหน่วยงาน ช่วยกันแก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย เพื่อทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล และยังเป็นกิจกรรมสนองพระปณิธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ร่วมกันทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อพี่น้องประชาชน รวมถึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ความดีเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ ปลุกความเป็นจิตอาสาในตัวในการช่วยกันสอดส่องดูแลชุมชน สังคมที่อยู่อาศัยหากพบเบาะแสยาเสพติด หรือกรณีอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ขอให้แจ้งข้อมูลให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด อำเภอ รับทราบข้อมูลได้ทุกช่องทาง ทั้งที่ที่ว่าการอำเภอ ศาลากลางจังหวัด หรือที่สายด่วน 1567 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที” นายสุทธิพงษ์กล่าว