เมื่อวันที่ 29 ก.พ. กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) จัดประชุมวางแผนงานโครงการ (Project Kick off Meeting) ภายใต้การสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และวางแผนการดำเนินโครงการ Strengthened capacities and local-level plans for climate change adaptation in the agriculture and food security sector in Southern and North-Eastern Thailand โดยได้รับเกียรติจากนายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เป็นประธานกล่าวต้อนรับ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุม

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช กล่าวว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ได้รับความร่วมมือจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ในการดำเนินโครงการ Strengthened capacities and local-level plans for climate change adaptation in the agriculture and food security sector in Southern and North-Eastern Thailand โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุน และความช่วยเหลือด้านเทคนิคจากกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร (The United Kingdom’s Foreign, Commonwealth and Development Office: FCDO) และมอบหมายให้องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) เป็นผู้วางแผนการดำเนินโครงการ และเป็นการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งการประชุมในวันนี้ ได้รับเกียรติจากท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ท่านผู้มีเกียรติ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน รวม 40 ท่าน

สำหรับโครงการดังกล่าวฯ นี้ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี เพื่อบูรณาการแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคเกษตรกรรมระดับท้องถิ่น ใน 2 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ ภาคใต้ 1 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัด และประเมินขอบเขตในการเข้าถึงและใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้า รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรในระดับท้องถิ่นสำหรับภาคเกษตรกรรม ใน 8 จังหวัดพื้นที่โดยรอบ และที่สำคัญมีการพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเกษตรกรกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เสี่ยงทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการจะช่วยส่งเสริมมาตรการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว นำไปสู่การขยายผล ประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการตั้งรับปรับตัวต่อไป