“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND, AVIATION HUB” เพื่อประกาศถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินของภูมิภาค ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาประเทศไทย ให้กลายเป็นศูนย์กลางการเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน และตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค โดยการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนี้ ยังได้ถ่ายทอดผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) รวมถึงเพจเฟซบุ๊ก Live NBT2HD และเพจไทยคู่ฟ้าด้วย

นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลมีความเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพ และพร้อมมากที่จะฉายแววออกมาให้ชาวโลกได้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากขนาดไหน โดยเฉพาะเรื่องการอัปเกรด และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับการบินของภูมิภาค ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2548 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก แต่ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 68 ของโลก ตกมา 55 อันดับ ซึ่งตนขอประกาศไว้เลยว่า 1 ปีนับจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องติดอันดับ 1 ใน 50 ของสนามบินที่ดีที่สุดในโลก และจะติดอันดับ 1 ใน 20 ให้ได้ภายใน 5 ปี อย่างไรก็ตามวันนี้เราตื่นแล้ว และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมจะมาร่วมกันพัฒนา เพื่อให้ความฝันเหล่านี้เป็นจริงให้ได้

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ทสภ. มีพื้นที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ ซึ่งในแผนพัฒนาระยะสั้นนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จะเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ การรอคิวนาน ทั้งการตรวจค้น การตรวจคนเข้าเมือง การรอกระเป๋าสัมภาระ, ปัญหาความหนาแน่นของผู้โดยสาร และปัญหาการจัดคิวรถแท็กซี่ในสนามบิน เป็นต้น โดยปัญหาเหล่านี้ต้องแก้ไขให้ได้ภายใน 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ ทสภ. ได้ก่อสร้าง และเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) เพิ่มปริมาณรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ช่วยลดแออัดได้ นอกจากนี้เดือน ต.ค. 67 จะเปิดใช้ทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (ชม.) เป็น 94 เที่ยวบินต่อ ชม.

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ ทสภ. ตั้งเป้าหมายจะลดระยะเวลาที่ผู้โดยสารต้องรอในขั้นตอนต่างๆ รวมแล้วต้องไม่เกิน 30 นาที และจะเปิดให้บริการเครื่องเช็กอินอัตโนมัติ และเครื่องโหลดสัมภาระอัตโนมัติให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ขณะเดียวกันจะเพิ่มผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้นรายที่ 3 ตลอดจนเพิ่มเจ้าหน้าที่ในส่วนงานต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้งานบริการต่างๆ มีความรวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ ได้กำชับกระทรวงคมนาคมว่า นอกจากมีการอัปเกรดให้กับผู้ประกอบการ เมื่อทำงานดีแล้ว ควรต้องดาวน์เกรดผู้ประกอบการที่ให้บริการไม่ดีด้วย เพื่อจะได้ตั้งใจให้งานราบรื่นมากยิ่งขึ้น

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า ส่วนแผนพัฒนาระยะยาวนั้น ทอท. มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับของผู้โดยสารให้เป็น 150 ล้านคนต่อปี ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก-ทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสาร (East-West Expansion) เพิ่มปริมาณการรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี, โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) รองรับผู้โดยสารได้อีก 60 ล้านคนต่อปี และก่อสร้างรันเวย์เส้นที่ 4 รองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อ ชม. ขณะเดียวกัน ยังมีแผนก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT-2) เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับ และขนส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้มากขึ้น ปัจจุบัน ทสภ. ขนส่งสินค้าอยู่ 1.2 ล้านตันต่อปี ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่าไทย แต่รองรับ และขนส่งสินค้าได้มากกว่าไทย 2-3 เท่าตัว

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ขณะเดียว ทอท. ยังมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี และจะยกระดับการบริการโดยจะพัฒนาให้เป็นแหล่งรวมของฝาก OTOP จากทั่วประเทศ และจะเพิ่มพื้นที่จอดรถให้มากขึ้นเป็น 7,600 คัน หรือประมาณ 5 เท่าของปัจจุบันภายในปี 2572 อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่จอดรถเป็นปัญหาใหญ่ของ ทดม. เช่นกัน เพราะผู้โดยสารหาที่จอดรถค่อนข้างยาก โดยภายใน 3 เดือนนี้ ทอท. จะย้ายที่จอดรถพนักงานไปอีกจุดหนึ่ง เพื่อให้ ทดม. มีที่จอดรถยนต์รองรับได้เพิ่มอีกประมาณ 1,000 คัน   

จากข้อมูลพบว่า ที่ ทดม. มีเครื่องบินส่วนบุคคลมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะมาใช้บริการค่อนข้าง แต่เนื่องจากที่ประเทศไทยที่จอดไม่เพียงพอ จึงแค่มาส่งผู้โดยสาร และบินไปจอดที่ประเทศอื่น ดังนั้น ทอท. จึงมีแผนที่จะเปิดให้บริการเพิ่มที่ ทสภ. ให้สามารถจอดเครื่องบินส่วนบุคคลได้มากขึ้น เพื่อเปิดประตูรับเงินหลายล้านเข้าประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ทอท. ยังมีแผนพัฒนาสนามบินใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอันดามัน ที่ จ.พังงา และท่าอากาศยานล้านนา จ.ลำพูน รวมถึงจะมีการพัฒนาสนามบินน้ำ (Seaplane Terminal) ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อยกระดับการให้บริการ ดึงดูดนักท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปเที่ยวยังเกาะต่างๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า สายการบินเวียตเจ็ท เป็นสายการบินที่มีการสั่งซื้อเครื่องบินจำนวนมาก แม้กระทั่งในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีความต้องการที่จะใช้ท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็นฮับในการขนถ่ายผู้โดยสารด้วย ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนา และขยายขีดความสามารถ เพื่อรองรับการเป็นฐานการบินของสายการบินเวียตเจ็ทในอนาคตได้ ขณะเดียวกัน ทอท. ควรต้องเพิ่มปริมาณเที่ยวบินที่มาเปลี่ยนเครื่องที่ท่าอากาศยานของไทยให้เพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1% ขณะที่สนามบินชางฮี ประเทศสิงคโปร์ มีปริมาณเที่ยวบินมาเปลี่ยนเครื่องถึงประมาณ 30% หากสามารถทำได้ก็จะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้มาท่องเที่ยว และจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นได้

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท. มีแผนจะเปิดประกวดราคา (ประมูล) โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก วงเงินประมาณ 9 พันล้านบาท ประมาณเดือน มิ.ย. 67 และประมาณปลายปี 2568 ถึงต้นปี 2569 จะทยอยเปิดประมูลโครงการส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก, อาคาร SAT-2 และอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 69 จะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 72-73 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของ ทอท. ที่จะเพิ่มขีดความสามารถของ ทสภ. ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี และเป้าหมายของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศว่า ทสภ. ต้องติดอันดับ 1 ใน 20 ปีสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ภายใน 5 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับการบินของภูมิภาค เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งมีการผลักดันของรัฐบาลในชุดที่ผ่านๆ มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งล่าสุด รัฐบาลนายเศรษฐา ได้เดินหน้าสานต่อแผนงานต่างๆ ของ ทอท. เพื่อให้เป้าหมายที่ต้องการให้ประเทศไทย เป็นฮับการบินของภูมิภาคเกิดขึ้นได้จริง.