สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ว่า การศึกษาที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ระบุว่า โรคอ้วน ส่งผลกระทบต่อประเทศยากจนเป็นพิเศษ และอัตราข้างต้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น รวดเร็วกว่ากลุ่มผู้ใหญ่

งานศึกษาของดับเบิลยูเอชโอ ซึ่งได้รับการเผยแพร่ก่อน “วันอ้วนโลก” หรือวันที่ 4 มี.ค. ของทุกปี ประมาณการว่า โลกมีผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็กที่เป็นโรคอ้วน ประมาณ 226 ล้านคน เมื่อปี 2533 และตัวเลขข้างต้นเพิ่มขึ้นเป็น 1,038 ล้านคน ในปี 2565

ด้านนายฟรานเชสโก บรังกา ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการเพื่อสุขภาพ จากดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นเกิน 1,000 ล้านคน เกิดขึ้นเร็วกว่าที่หน่วยงานคาดการณ์ไว้อย่างมาก

ภายหลังการวิเคราะห์น้ำหนักและส่วนสูงของผู้คนมากกว่า 220 ล้านคน ในกว่า 190 ประเทศ ทีมนักวิจัยประเมินว่า ผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่ 504 ล้านคน และผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ 374 ล้านคน เป็นโรคอ้วนในปี 2565 อีกทั้งอัตราโรคอ้วนยังเพิ่มในกลุ่มผู้หญิงมากกว่า 2 เท่า และในกลุ่มผู้ชายเกือบ 3 เท่า นับตั้งแต่ปี 2533 ด้วย

ทั้งนี้ นพ.เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า งานศึกษาชิ้นใหม่นี้ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันและการจัดการโรคอ้วน ตั้งแต่ในวัยเด็ก ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ผ่านการรับประทานอาหาร, การออกกำลังกาย และการดูแลอย่างเหมาะสม ตามความจำเป็น

“การกลับสู่เส้นทางเดิม เพื่อบรรลุเป้าหมายระดับโลกในการลดอัตราโรคอ้วน ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสุขภาพจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง” เทดรอส กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP