เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้เชิญกรมทางหลวง (ทล.), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และผู้รับเหมา 16 สัญญาของโครงการก่อสร้างบนทางหลวงหมายเลข 35 (พระรามที่ 2) รวม 3 โครงการมาประชุม เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย 2.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ทั้ง 2 โครงการ ทล. เป็นผู้รับผิดชอบ รวม 14 สัญญา และ 3.โครงการทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก 2 สัญญา กทพ.เป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ในช่วงบ่าย นายสุริยะ พร้อมคณะผู้บริหาร ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการก่อสร้างทั้ง 3 โครงการด้วย

นายสุริยะ กล่าวว่า จากการประชุมหารือผู้รับเหมาทั้ง 16 สัญญา ยืนยันว่าจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.68 มีเพียงตอน 4 ช่วง กม.25+734-26+998  และตอน 6 ช่วง กม.28+664-29+772 ของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 จะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.68 โดยผู้รับเหมาทั้ง 2 สัญญา จะพยายามเร่งรัดงานให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.68 แต่ประมาณกลางปี 67 จะสามารถเปิดให้บริการสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ของโครงการ กทพ. ได้ก่อน ขณะนี้กำลังเร่งสร้างทางขึ้นลงบริเวณถนนสุขสวัสดิ์ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาปริมาณการจราจรบนสะพานพระราม 9 ได้ สำหรับทั้ง 3 โครงการนี้จะเป็นเซตสุดท้ายของการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 จะไม่มีการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 อีก ทั้งนี้ตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้ ทล. กำหนดตัวบุคคลในแต่ละสัญญา เพื่อติดตามงานก่อสร้างที่ยังล่าช้าให้กลับมาเป็นไปตามแผนงาน และทุก 2 เดือนจะเชิญประชุมผู้รับเหมาทั้ง 16 สัญญา เพื่อติดตาม และเร่งรัดงานอย่างต่อเนื่องด้วย

“ผมรับทราบปัญหานี้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม และประชาชนบ่นมาตลอดว่า ถนนพระราม 2 สร้างมา 7 เจ็ดชั่วโคตรไม่เสร็จสักที จึงได้สั่งการให้เร่งรัดการก่อสร้าง แต่ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เพราะอาจจะยังไม่มีเครื่องมือที่จะให้ผู้รับเหมาทำตามสัญญา ทั้งนี้มั่นใจว่าหากติดตามการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด งานจะสำเร็จได้ตามเป้าหมาย ซึ่งตั้งแต่เดือน เม.ย.67 ทล. และ กทพ. จะเริ่มพิจารณาการทำงานของผู้รับเหมาทุกเดือน หากงานล่าช้าจากแผนงานของแต่ละเดือนมากกว่า 50% จะพิจารณายกเลิกสัญญาต่อไป ซึ่งหากมีการยกเลิกสัญญากลางคันระหว่างทำงาน เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานในภาพรวม เพราะมีทีมงานสำนักก่อสร้างสะพาน ทล. เข้ามารับงานต่อได้ทันที” รมว.คมนาคม กล่าว  

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ภาพรวมการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงาน 11%, โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ M82 ล่าช้า 10% และโครงการทางพิเศษ สายพระราม 3 เร็วกว่าแผน 1% ซึ่งผู้รับเหมายืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน แต่ปัญหาที่ทำให้งานล่าช้า ส่วนใหญ่มาจากการกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้าง โดยเมื่อครั้งทำสัญญาให้ผู้รับจ้างสามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง แต่เนื่องจากช่วงหลังเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทล. และกทพ. จึงมีความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยต่อประชาชน และกำหนดให้ทำงานได้เฉพาะเวลากลางคืน ทำให้เวลางานลดเหลือ 4-5 ชม.ต่อวัน ขณะเดียวกันในช่วงวันหยุดก็ให้หยุดการก่อสร้าง จึงทำให้งานล่าช้า ทั้งนี้ผู้รับเหมาขอให้กระทรวงคมนาคม เร่งเคลียร์เงินชดเชยค่าก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) ด้วย ซึ่งกำชับให้ ทล. เร่งดำเนินการแล้ว เพราะจะได้เยียวยาผู้รับเหมาที่ถูกลดเวลาการทำงานลงด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ได้มอบให้ ทล. และ กทพ. ไปพิจารณาว่าแต่ละสัญญาจะสามารถเพิ่มเวลาการทำงานให้ผู้รับเหมาได้มากขึ้นเท่าไหร่ อย่างไรบ้าง แต่ยังคงเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก อาทิ อาจเพิ่มเวลาการทำงานช่วงวันธรรมดา (อังคาร-พฤหัสบดี) ที่มีปริมาณรถน้อย หรือช่วงกลางคืน จากเดิมให้เริ่ม 4 ทุ่ม อาจปรับขึ้นเป็น 3 ทุ่ม เป็นต้น ทั้งนี้ให้จัดทำให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน และเริ่มดำเนินการต่อไป นอกจากนี้มอบให้ ทล. และ กทพ. เร่งจัดทำรายละเอียดสมุดพกสำหรับตัดคะแนนผู้รับเหมา และประสานกับกรมบัญชีกลาง เพื่อพิจารณาปรับระดับชั้นผู้รับเหมา และขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) อาทิ หากทำงานก่อสร้าง และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หรืองานล่าช้า จะถูกตัดคะแนน ซึ่งจะมีผลต่อการปรับระดับชั้นผู้รับเหมา เพราะที่ผ่านมามีแต่จะปรับขึ้น ยังไม่มีปรับระดับลง โดยหากผู้รับเหมาชั้นพิเศษ ถูกปรับลงมาเป็นผู้รับเหมาชั้น 1 ก็จะส่งผลกระทบให้ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลโครงการขนาดใหญ่ วงเงินเกิน 1 พันล้านบาทได้

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันถนนพระราม 2 เป็นเส้นทางที่มีปริมาณการจราจรสูงที่สุดในประเทศไทย ประมาณ 4 แสนคันต่อวัน ซึ่ง ทล. ได้เก็บข้อมูลปลายปี 66 พบว่า ช่วงดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ มีปริมาณการจราจรประมาณ 2.56 แสนคันต่อวัน จากวงแหวนฯ-สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน มีปริมาณการจราจรประมาณ 1.3 แสนคนต่อวัน และจากแม่น้ำท่าจีน-สมุทรสงคราม-วังมะนาว มีปริมาณการจราจรประมาณ 8 หมื่นคันต่อวัน     

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ได้มอบให้ ทล. เร่งดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 (M8) สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม.วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางลงสู่พื้นที่ภาคใต้ โดยสาเหตุที่โครงการนี้ล่าช้ายังไม่ดำเนินการ เพราะยังมีการร้องเรียนของชาวบ้านบริเวณ จ.เพชรบุรี เนื่องจากถนนเพชรเกษมฝั่งซ้ายอยู่ใกล้ชุมชน ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการปรับการดำเนินงานให้เป็น 2 ระยะ ได้แก่ ช่วงนครปฐม-วังมะนาว สามารถดำเนินการได้เลย และวังมะนาว-ชะอำ ให้ปรับแบบย้ายมาก่อสร้างฝั่งขวา ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ เพื่อไม่ให้กระทบประชาชน และงานเดินต่อไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ทล. มีแผนจะก่อสร้างโครงการบนถนนพระราม 2 อีก 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 (M8) สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม., โครงการ M82 ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อ ระยะทาง 47 กม. วงเงิน 53,219 ล้านบาท และโครงการทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อสามแยกวังมะนาว-ทางหลวงหมายเลข 3510 (ท่ายาง-ยางชุม) ระยะทาง 36.80 กม. วงเงิน 3,042 ล้านบาท.