สหพันธ์บาสเกตบอลแห่งเอเชีย (ฟีบ้าเอเชีย) ประกาศอันดับเอเชียแรงกิ้งของทีมบาสเกตบอลชายประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียออกมาล่าสุด ปรากฏว่า ทีมยัดห่วงหนุ่มของไทย อันดับกระโดดขึ้นมารวดเดียว 5 อันดับ จากอันดับ 20 ขึ้นมาอยู่ 15 ของเอเชีย ซึ่งเป็นชาติที่ได้รับการเลื่อนอันดับเยอะที่สุดในทวีปครั้งนี้

“เฮียต่าย” นิพนธ์ ชวลิตมณเฑียร นายกสมาคมกีฬาบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย เผยว่า การเลื่อนอันดับของทีมบาสชายไทย ครั้งนี้มาจากผลงานการแข่งขันล้วนๆ ไม่มีเรื่องการได้รับคะแนนจากการเป็นเจ้าภาพจัดอีเวนต์ใดๆ สำคัญเลย มาจากผลการแข่งขันรายการ “ฟีบ้า เอเชีย คัพ 2025 ควอลิฟายเออร์ส” ที่ ไทย เปิดบ้านเอาชนะ อินโดนีเซีย ที่มีอันดับแรงกิ้งสูงกว่ามาล่าสุดด้วย รวมทั้งรอบคัดเลือก 2 รอบ ก่อนหน้านั้น ในรอบแรก ไทย ชนะทุกทีม และในรอบที่ 2 แพ้ กวม แค่เกมเดียว ทั้งหมดจึงส่งให้ไทยขยับขึ้นมาถึง 5 อันดับ ขึ้นมาอยู่อันดับ 15 ของเอเชีย ส่วน อินโดนีเซีย ที่อยู่อันดับ 14 ล่าสุดหล่นลงไปหลุดจาก 16 อันดับแรกของทวีปแล้ว

ประมุขยัดห่วงไทยกล่าวต่อว่า ดีใจกับพัฒนาการของทีมชาติไทยในครั้งนี้ เพราะมันมาจากผลงานการแข่งขันล้วนๆ ในเรื่องนี้ตนในฐานะนายกสมาคมฯ ก็อยากฝากแจ้งถึงผู้ใหญ่หลายๆ ท่านที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้อันดับโลกและอันดับเอเชียของทีมบาสเกตบอลทีมชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นทีมชายหรือทีมหญิงชุดใหญ่ หรือเยาวชน ต่างขยับขึ้นสูงมาเรื่อยๆ ตลอดเวลา ก็อยากให้ทุกคนเข้าช่วยสนับสนุนกันเยอะๆ เพราะเด็กๆ นักกีฬาแต่ละคน ต่างออกไปทำผลงานอย่างเต็มที่สุดความสามารถ ก็เพื่อชื่อเสียงของประเทศไทย

“ในส่วนหลังจากนี้ ทีมบาสเกตบอลชาย จะได้รับสิทธิให้ไปร่วมแข่งขันรายการใหญ่คือสโมสรไฮ-เทค บาสเกตบอล คลับ ซึ่งได้สิทธิในฐานะแชมป์รายการบาสเกตบอล ไทยลีก 2023 ให้เป็นตัวแทนของไทยเพียงหนึ่งเดียวเข้าร่วมรายการ “บาสเกตบอล แชมเปี้ยนส์ ลีก เอเชีย 2024″ ระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย. 67 ซึ่งจะเริ่มที่รอบคัดเลือกของโซนเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มองโกเลีย ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นสโมสรไฮ-เทค แต่ถือว่าเป็นทีมชาติไทย เพราะเป็นตัวแทนประเทศ และคงจะมีการผสมผสานผู้เล่นจากสโมสรต่างๆ ที่ไม่ใช่มีแต่นักกีฬาของไฮ-เทค ที่สำคัญคงจะต้องมีตัวอิมพอร์ตจากสหรัฐอเมริกา เข้ามาเพิ่มด้วย” เฮียต่าย กล่าว

สรุปอันดับเอเชียแรงกิ้ง 16 อันดับแรกของบาสเกตบอลชาย อันดับ 1 ออสเตรเลีย, อันดับ 2 ญี่ปุ่น, อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ (+1), อันดับ 4 เลบานอน (-1), อันดับ 5 นิวซีแลนด์ (+3), อันดับ 6 เกาหลีใต้ (-1), อันดับ 7 จอร์แดน (+2), อันดับ 8 จีน (-1), อันดับ 9 อิหร่าน (-3), อันดับ 10 ซีเรีย (+2), อันดับ 11 คาซัคสถาน (+4), อันดับ 12 ซาอุดีอาระเบีย (+2), อันดับ 13 กวม (-3), อันดับ 14 บาห์เรน (-3), อันดับ 15 ไทย (+5) และอันดับ 16 อิรัก (+1)