น.ส.กุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รอง ผอ.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กล่าวว่า จากปัญหาปริมาณผลผลิต “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วลิสง” ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เนื่องจากผลผลิตมีน้อย ในขณะที่ความต้องการของโรงงานอาหารสัตว์มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคปศุสัตว์ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สวก. ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วลิสงถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท จึงมีนโยบายสนับสนุนทุนวิจัยให้กับผลงานที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคู่ไปกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีรายได้ที่มั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ได้มีการนำนิทรรศการผลงานวิจัยที่ สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยประจำปีงบประมาณ 2566-2567 ให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาถ่ายทอดองค์ความรู้  4 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดไร่ลูกผสมที่พัฒนาโดยภาครัฐโดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมเพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดไร่ในจังหวัดนครราชสีมา” และ โครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์เชิงธุรกิจ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์ใหม่ของภาครัฐสำหรับกลุ่มเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา” เป็นการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดที่มีจุดเด่นสำคัญ คือ ต้านโรค โตไวและให้ผลผลิตสูงมากกว่า 1,600 กก./ไร่ เหมาะกับพื้นที่การเลี้ยงภาคกลางตอนบนและอีสาน โดยเป็นงานวิจัยที่พัฒนาต่อยอดข้าวโพดสายพันธุ์ สุวรรณ 5720 (sw 5720) และ สุวรรณ 5821 (sw 5821) จากเดิมที่มีการพัฒนาสายพันธุ์จนได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์ไปเมื่อปี พ.ศ. 2563 แต่ยังขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเลี้ยงในพื้นที่สภาพนา เนื่องจากมีความชื้นสูงทำให้เกิดโรคและมีปัญหาด้านการงอก โครงการวิจัยนี้ จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปัจจุบัน ได้มีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3 กลุ่ม รวม 65 ราย พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ นำพันธุ์ข้าวโพดดังกล่าวไปเพาะปลูกพบว่าสามารถให้ผลผลิตเป็นที่พึงพอใจอย่างมาก สามารถให้ปริมาณผลผลิต 1,750-1,980 กก./ไร่ และพร้อมที่จะนำพันธุ์ไปขยายพื้นที่การเพาะปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป 

2. โครงการ “การประเมินผลผลิตและเสถียรภาพผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยวดีเด่นเพื่อปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งเขตภาคกลาง” เป็นโครงการที่พัฒนาข้าวโพดสายพันธุ์ใหม่สุวรรณ 6420 (sw 6420) สุวรรณ 6480 (sw 6480) โดยชูจุดเด่นตรงที่ทนแล้งได้ดี เหมาะกับการเพาะปลูกสภาพไร่ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ที่สำคัญให้ผลผลิตสูงมากกว่า 1,700 กก./ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนพันธุ์ในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเผยแพร่เมล็ดพันธุ์ออกสู่เกษตรกรเพื่อนำไปต่อยอดในการเพาะปลูกต่อไป  

3. โครงการ “การพัฒนาพันธุ์ถั่วลิงสงและเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตสำหรับเขตภาคกลางและภาคเหนือของประเทศไทย” เป็นโครงการที่พัฒนาถั่วลิงสงสายพันธุ์ “เคยู อาร์ด้า 20 (KU ARDA 20)” โดยมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ โตดี ทนโรค ให้ผลผลิตสูงมากกว่า 400 กก./ไร่ เหมาะกับการเลี้ยงในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง เหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงอบกรอบและถั่วเคลือบ ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์เรียบร้อยแล้วและได้มีเกษตรกรได้นำพันธุ์ไปใช้ ซึ่งพบว่าผลผลิตออกมาเป็นที่พึงพอใจ สามารถสนับสนุนฐานการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคและใช้ในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ คาดว่าถั่วลิงสงสายพันธุ์ “เคยู อาร์ด้า 20” จะสามารถสร้างมูลค่าจากการผลิตถั่วลิสงในประเทศได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการวิจัยทั้ง 4 โครงการนี้ จะช่วยลดปริมาณการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศปีละหลายพันล้านบาท ด้วยการใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตสูงขึ้น สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้ลดลง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สำหรับผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสนับสนุนงานวิจัย (กลุ่มข้าวและพืชไร่) เบอร์โทรศัพท์ 08-0605-6561 และ 0-2579-7435 ต่อ 201