เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่แพกลุ่มประมงพื้นบ้าน อ.เชียงคาน จ.เลย นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะลงพื้นที่อำเภอเชียงคาน ร่วมเสวนาเวทีสาธารณะ “เขื่อนโขงน้ำใส แต่ (ไฟฟ้า) ไม่สะอาด” พร้อมด้วย นางสาวศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการด้านประมง ตัวแทนชุมชนลุ่มน้ำโขง จาก 7 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี นายมนตรี จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง และนางสาวไพริน เสาะสาย ผู้ดำเนินเวทีเสวนา

กรณีศึกษาปัญหาและผลกระทบโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่ขวางกั้นแม่น้ำโขง ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากจุดสร้างเขื่อนห่างจากชายแดนไทยบริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ไม่ถึง 2 กิโลเมตร มีหัวหน้าส่วนราชการ กลุ่มประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเวทีเสวนา

จากรายงานการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรของชุมชน และแม่น้ำโขง โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลัก ทั้งในจีนและลาว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสานของประเทศไทย มีการประเมินผลกระทบเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง ด้านเกษตรริมโขง ด้านประมง ด้านการท่องเที่ยวของชุมชน ด้านการจัดการป่าชุมชน และด้านการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของชุมชน รวมถึง กรณีศึกษาจากการสร้างเขื่อนไชยะบุรี สปป.ลาว ทำให้ประชาชนริมแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบ ทั้งด้านประมง ระบบนิเวศ และด้านการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ ซึ่งยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา

ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การเสวนาในครั้งนี้ เป็นการเปิดเวทีรับฟังการสะท้อนปัญหาในปัจจุบัน พร้อมกับหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม

ทั้งนี้ สปป.ลาว ได้มีข้อเสนอแนะในหลายๆ ด้าน ทั้งความสมดุลของพลังงานและผลกระทบด้านต่างๆ การศึกษาผลกระทบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ต้องศึกษาผลกระทบก่อนการสร้างเขื่อน รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ ศึกษาร่องน้ำ การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ และการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งนี้จะรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันผลกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของประชาชน ระบบนิเวศ และสภาพแวดล้อมเชิงเศรษฐกิจริมแม่น้ำโขงให้รอบด้าน จัดทำข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป.