ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านสวนทรายทองรีสอร์ท อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ดร.อุษา เทียนทอง ประธานกรรมการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีสมุทรสงคราม (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เป็นประธานประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนธุรกิจบริษัทประชารัฐรักสามัคคีสมุทรสงครามฯ มีนายอุทัย ดำรงธรรม ประธานหอการค้า จ.สมุทรสงคราม น.ส.สุพิชฌาย์ ขาวทอง ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.สมุทรสงคราม คณะกรรมการ และสมาชิกร่วมประชุมกว่า 20 คน

ดร.อุษา กล่าวว่า บริษัทประชารัฐรักสามัคคีมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข มีภารกิจสำคัญใน 3 กลุ่มงานคือ ด้านการเกษตร ด้านแปรรูปสินค้าชุมชนและด้านการท่องเที่ยว โดยชุมชนภายใต้กระบวนการ 5 ข้อ ได้แก่ต้นทาง ประกอบด้วย การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การสร้างองค์ความรู้กลางทางคือ การตลาดและปลายทางคือ การสื่อสารและสร้างการรับรู้เพื่อความยั่งยืน และการบริหารจัดการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.มีเป้าหมายหลักเพื่อสังคมไม่ใช่เพื่อกำไรสูงสุด 2.เป็นรูปแบบธุรกิจที่รายได้หลักมาจากการให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจชุมชน ไม่ใช่เงินจากรัฐหรือเงินบริจาค 3.กำไรต้องนำไปใช้ขยายผลไม่ใช่ปันผลเพื่อประโยชน์ส่วนตัว 4.การบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และ 5.จดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัท

สำหรับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีสมุทรสงครามฯ จดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัทแล้วด้วยทุน 4 ล้านบาท และกำลังจะนำบริษัทจดทะเบียนเพื่อเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรอยู่ในระดับสีเขียวหรือเกรดบี เนื่องจากมีแผนงาน ทำตามแผน และสร้างกำไร นอกจากนี้ยังมีโครงการเด่นคือ โครงการสนับสนุนการจัดสร้างโรงเรือนผลิตปุ๋ยและดินพร้อมปลูกของวิสาหกิจชุมชนความมั่นคงทางอาหาร ที่วัดศรีศรัทธาธรรม ต.คลองเขิน อ.เมือง โดยบริษัทประชารัฐรักสามัคคีสมุทรสงครามฯ ภาคเอกชน และวัดศรีศรัทธาธรรมได้มอบทุนจัดตั้งจำนวน 153,000 บาทแบบ 2 ปีปลอดเงินคืน เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการปลูกผักปลอดภัย โดยกลุ่มผลิตเพื่อใช้เองเมื่อเหลือนำไปขายสร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 50 คน เริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ณ เดือนธันวาคม 2566 มีรายรับสุทธิ 7,754 บาท และมีแผนจะนำเงินส่งคืนประชารัฐต่อไป

ส่วนการขับเคลื่อนเรื่องการปลูกผักปลอดภัยจำหน่าย มีกลุ่มเกษตรกรปลูกผักเข้าร่วม 6 กลุ่ม และกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 2 กลุ่ม ตั้งแต่ปี 2564 ปัจจุบันมีรายได้คืนสู่ชุมชนกว่า 1 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ชุมชนบ้านสารภี ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที อีกด้วย

จากนั้นที่ประชุมได้วิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งของบริษัท พบว่าจุดแข็ง คือมีการก่อตั้งขยายกลุ่มมีเครือข่ายที่ชัดเจน มีหน่วยงานสนับสนุนหลายส่วน มีคณะกรรมการที่มีจิตสาธารณะ หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือจำนวนมาก ส่วนจุดอ่อน ไม่มีการนำเสนอผลการดำเนินที่ผ่านมา คณะกรรมการแต่ละท่านมีการดำรงตำแหน่งสำคัญในจังหวัดหลายตำแหน่ง แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์สู่บริษัทได้ เช่นเดียวกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่บริษัทมีจำนวนมากแต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์หรือดึงเข้ามามีส่วนร่วมต่อบริษัทได้ เนื่องจากการแสดงความมีอยู่ขององค์กรยังน้อย การมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมต่างๆ ในระดับจังหวัดมีน้อย ขาดจุดยืนฐานองค์กรที่ชัดเจน ถึงจะเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ก็ต้องมีการเพิ่มรายรับ รักษาทุนหรือเพิ่มทุนเพื่อให้องค์กรอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมีระบบที่ส่งต่อได้

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังเห็นชอบแผนดำเนินงานปี 2567 ให้คงแผนเดิมในปี 2566 คือ การส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและขยายสู่นวัตกรรม การส่งเสริมการเกษตรแปรรูปและการท่องเที่ยว และการสร้างเครือข่ายตลาดประชารัฐ โดยให้เพิ่มแผนยุทธศาสตร์สร้างเครือข่ายเพื่อความมั่นคงของบริษัทประชารัฐ เพิ่มแผนการเพิ่มทุนบริษัท รวมทั้งการร่วมกับ OTOP ชุมชน เพื่อเป็นตลาดกลางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ และการจัดงานประชารัฐปีละครั้ง

พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังตั้งเป้าใน 5 ปี จะเพิ่มรายได้แก่บริษัท โดยนำตลาดผักปลอดภัยสู่ตลาดชั้นนำของประเทศ เป็นบริษัทนำเที่ยวเชิงเกษตรและมีผลงานที่สร้างธุรกิจให้ชุมชนเพื่อให้ชุมชนเกิดธุรกิจที่มีกำไรโดยการสนับสนุนจากเครือข่ายประชารัฐ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ควรจะมีคำว่า “ยั่งยืน มั่งคั่ง พลังร่วม” ซึ่งอาจจะมีการปรับข้อความอีกครั้ง