“Noisy Bangkok : The Ignored Pollutant” ศิลปะการจัดวาง ศิลปะเสียง โดยนักสร้างสรรค์ Edutainment & Socio-interaction Computing Lab (ESIC Lab) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นหนึ่งในผลงานจาก นิทรรศการ กรุงเทพฯ ๒๔๒ ที่จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โครงการที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครนำเสนอประเด็นทางสังคมผ่านการทำงานร่วมกันกับภาคส่วนต่าง ๆ ใช้กิจกรรมสร้างสรรค์และสื่อศิลปะร่วมสมัย เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้แลกเปลี่ยน และสร้างการมีส่วนร่วม

กรุงเทพฯ ๒๔๒ นิทรรศการฯ พาสำรวจความเปลี่ยนแปลง สะท้อนมุมมองเมือง โดยเชื้อเชิญศิลปิน นักสร้างสรรค์ นักกิจกรรม และนักวิจัยจากหลากหลายสาขาเข้าร่วม ชวนผู้ชมทบทวน ตระหนักถึงและร่วมลงมือทำ เขียนบทต่อไปให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่อาศัยและสำหรับ มลพิษทางเสียง จากการนำเสนอประเด็นเสียงในกรุงเทพมหานครผ่านรูปแบบการใช้ศิลปะจัดวางแบบสื่อผสม (Media Art Installation) ร่วมกับการนำเสนอข้อมูลด้วยเทคนิค Generative Art สะท้อนสภาพแวดล้อมและภาพบรรยากาศของเสียงที่แวดล้อมรอบตัว ผลงานที่สื่อสารชวนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเสียง ได้พาย้อนสำรวจเสียงในเมืองผ่านผลงานศิลปิน

โดยนักสร้างสรรค์ ESIC Lab เล่าว่า การจัดการมลพิษทางเสียงในแต่ละเมืองต่างกันไปโดยต่างตอบโจทย์ความยั่งยืนเรื่องคุณภาพชีวิต โดยเรื่องของเสียงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญหลายมิติ ผลกระทบไม่ต่างจากเรื่องของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งในนิทรรศการฯ เราหยิบนำมาเล่า นำเทคโนโลยีมาใช้ในเชิงสร้างสรรค์

ในเรื่องของเสียงเสนอในมุมมองตามความเชี่ยวชาญของเรา โดย ESIC Lab เป็นภาคการศึกษาอยู่ภายใต้คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจธ. ซึ่งงานภาคใหญ่ ๆ จะเป็นการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้สร้างสรรค์งานในรูปแบบต่าง ๆ และจากที่ได้เชื้อเชิญเข้าร่วมในนิทรรศการ โดยประเด็นเป็นเรื่องของเมือง การขับเคลื่อนเมือง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมือง โดยเมืองในที่นี้คือกรุงเทพมหานคร จะเห็นว่า นิทรรศการต่าง ๆ ในต่างประเทศมักจะได้เห็นงานที่เป็นเทคโนโลยีอาร์ตร่วม อยู่ในฐานะที่ทีมเป็นเทคโนโลจีส เป็นนักวิจัยจึงตอบรับเข้าร่วม และนำเทคโนโลยีมาใช้กับงานศิลปะ นำมาสื่อสาร เล่าเรื่อง”

กรุงเทพมหานครมีทั้งมุมองด้านโอกาส และปัญหา โดยมุมโอกาสจะเห็นว่า มีการนำเสนอหลายมิติ ทั้งสะท้อนผ่านการท่องเที่ยว ความนิยมของนักท่องเที่ยว ความมีชีวิตชีวาของกรุงเทพฯ ครั้งนี้จึงมองในมิติปัญหา เล่าและสะท้อนผ่านเทคโนโลยี โดยประเด็นหนึ่งที่ทีมให้ความสำคัญคือ มลพิษทางเสียง โดยเสียงเป็นสิ่งที่อยู่กับผู้คน อยู่ในชีวิตประจำวัน นำมาชวนพูดคุย ชวนร่วมตระหนักถึงความสำคัญ

“ระดับเสียงหากเกิน 70–75 เดซิเบล เอ (dBA) ถ้าฟังอยู่นาน ๆ ความรู้สึกต่อการได้ยินจะลด เริ่มรู้สึกว่า มีปัญหากับระบบหู หรือการได้ยิน และถ้ามากขึ้น 85 90 หรือ 100 เดซิเบล เอ ขึ้นไปจะมีความเสี่ยงยิ่งขึ้น ถ้าได้ยินในระยะเวลายาวนานจะทำให้หูหนวกได้ หรือแม้กระทั่งความบกพร่องทางหูในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหูตึง หูอักเสบก็ล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากความดังของเสียง โดยอาจทำให้แก้วหูฉีกขาด หรืออวัยวะในหูมีความผิดปกติ ฯลฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ นำมาเป็นแนวคิดนำเสนอผ่านงานศิลปะ”

ทีมนักสร้างสรรค์ขยายความเพิ่มอีกว่า มลพิษทางเสียงเป็นเรื่องที่อยากให้ตระหนัก นอกจากฝุ่นควัน ก็คือเสียง แม้จะเป็นภาพใหญ่ เกิดจากหลายสาเหตุแต่เราในฐานะคนอยู่อาศัยในเมือง มีส่วนร่วมได้โดยใช้เสียงที่ไม่รบกวนต่อกัน ทั้งนี้นิทรรศการฯแบ่งกลุ่มข้อมูล โดยเมื่อลงไปศึกษาเชิงลึกพบว่า มีสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าเมืองมีความดังจริง โดยทีมได้รับความร่วมมือจากกรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจวัดคุณภาพเสียงอยู่หลายสถานที่ ย้อนหลังในระยะเวลา 2 ปี (พ.ศ. 2564-2565) นำข้อมูลเหล่านั้นออกแบบในรูปแบบ Generative Art ใช้ค่าระดับเดซิเบลหรือความดังสูงสุดมาเชื่อมโยงกับค่าเฉลี่ยระดับเดซิเบล หรือความดังของแต่ละย่าน แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของระดับความดังของเสียงที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

อีกทั้งทีมเก็บเสียงต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ 5 กลุ่มเสียง ได้แก่ เสียงการขนส่ง การก่อสร้าง เสียงในวิถีชีวิต กิจกรรมในเมือง เสียงเตือนต่าง ๆ และอีกกลุ่มเสียงในเชิงที่เกี่ยวกับทางวัฒนธรรม เก็บตัวอย่างเสียงนำมาแสดง ชวนทบทวนโดย Sound Art นำเสนอสภาพแวดล้อมทางเสียงของกรุงเทพมหานคร แสดงบรรยากาศวิถีชีวิตในแต่ละวันของชาวกรุงเทพฯ ที่อยู่กับสภาพแวดล้อมที่ล้อมรอบไปด้วยเสียง ผลงานแสดงให้เห็นถึงความสั่นสะเทือนที่เกิดจากระดับความดังของเสียงรูปแบบต่าง ๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ อีกหนึ่งชิ้นงานที่ชวนตระหนักเห็นถึงความสำคัญของเสียง และการใช้เสียงที่ไม่รบกวนต่อกัน .