เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีวันที่ 13 มี.ค. นี้ เป็นวันช้างไทย ว่า ประเทศไทยมีช้าง 2 ประเภท คือช้างบ้าน ที่ดูแลโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่จะดูแลสวัสดิการช้างที่อยู่ในปาง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ที่มีปัญหาอย่างมากในเวลานี้คือ ช้างป่า ซึ่งเวลานี้มีช้างป่าใน 16 กลุ่มป่า มีประมาณ 4,013-4,422 ตัว กระจายอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 93 แห่ง พื้นที่มีปัญหาที่ได้รับผลกระทบ 70 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ 34 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 29 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 7 แห่ง โดยพื้นที่มีผลกระทบรุนแรง 5 กลุ่มป่า ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าแก่งกระจาน ประเด็นคือ ต้องปรับสมดุลให้ช้างป่าเหล่านี้มีความเป็นอยู่อย่างเหมาะสม สมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ป่ารอยต่อ ที่นับวันช้างจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนมากขึ้น

“โดยตัวเลขช้างป่าทำร้ายประชาชนจนเสียชีวิตนับตังแต่ปี 2558 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เวลานี้ตัวเลขอยู่ที่ 210 คนแล้ว รัฐบาลเป็นห่วงและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ได้มีการกำหนดมาตรการควบคุม และผลักดันช้างอยู่ในป่า โดยได้ตั้งชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า 200 ชุดทั่วประเทศแบบเร่งด่วน เพราะเวลานี้ประชาชนมีความโกรธแค้นกับช้างที่ออกมาทำลายพืชผล และทำร้ายประชาชนในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เรามีแผนที่จะทำพื้นที่กักกันช้างเกเร ที่ทำร้ายประชาชน และช้างที่นำโขลงออกจากป่ามาในพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน โดยให้ไปอยู่ในคอก ซึ่งจะทำไว้ใกล้กับพื้นที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากระบกคู่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา โดยจะกักและปรับพฤติกรรมไปจนกว่าจะสงบ” นายอรรถพล กล่าว

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ในวันที่ 15 มี.ค. นี้ ตนพร้อมด้วย สส.พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย คือนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.พรรคก้าวไกล เขต 4 จ.ระยอง และนายศักดิ์ชาย ตันเจริญ  สส.เพื่อไทย เขต 3 จ.ฉะเชิงเทรา จะเดินทางไปยัง จ.ระยอง โดยทาง สส.ก้าวไกล จะไปร่วมทำการคัดเลือกว่า ช้างตัวไหนดื้อ ดุร้าย จะให้เจ้าหน้าที่จับไปกักบริเวณเพื่อปรับพฤติกรรมด้วย

เมื่อถามว่า แล้ว สส.จะทราบได้อย่างไรว่า ช้างตัวไหนดื้อ หรือมีพฤติกรรมดุร้าย นายอรรถพล กล่าวว่า หากเจอช้างฝูง คงดูได้ไม่ยากว่าตัวไหนจ่าฝูง ผู้นำฝูง และมีพฤติกรรมอย่างไร ก็คงต้องไปดูกันในวันที่ลงพื้นที่

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า มีการกำหนดแนวทางการจัดการพื้นที่รองรับช้างป่า 2 แนวทาง คือ 1.ทำพื้นที่รองรับช้างป่า เป็นการจัดการช้างป่าที่มีพฤติกรรมออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์และสร้างผลกระทบต่อชุมชนในระดับปานกลางสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร หรือเป็นพื้นที่รองรับช้างป่าผ่านการปรับพฤติกรรมแล้ว โดยการสำรวจพื้นที่สำหรับสร้างพื้นที่รองรับและจัดการช้างป่า ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร ในพื้นที่ 6 กลุ่มป่าหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มป่าตะวันออก พื้นที่รองรับช้างป่า คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน 2) กลุ่มป่าตะวันตก พื้นที่รองรับช้างป่า คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ 3) กลุ่มป่าแก่งกระจาน พื้นที่รองรับช้างป่า คือ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี  4) กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว พื้นที่รองรับช้างป่า คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง 5) กลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก พื้นที่รองรับช้างป่า คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง 6) กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พื้นที่รองรับช้างป่า คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า 2. จัดตั้งศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า เป็นการจัดการช้างป่าที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว สร้างความสูญเสียต่อชีวิต หรือมีแนวโน้มในการที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน พืชผลการเกษตรของราษฎรในพื้นที่ ในระดับรุนแรง โดยการสำรวจพื้นที่สำหรับสร้างศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่มีปัญหาช้างป่า โดยการพิจารณาพื้นที่สถานีเพาะเลี้ยง 23 แห่ง และศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 3 แห่ง ทั่วประเทศ ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการเข้าถึงพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการได้อย่างสะดวกและปลอดภัยทั้งแก่ราษฎร และช้างป่า 

นายอรรถพล กล่าวว่า นอกจากนี้ จะจัดการประชากรโดยการควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด มีโครงการนำร่องการใช้วัคซีนคุมกำเนิดระยะยาวในช้างป่าเอเชีย เพื่อศึกษาและทดสอบการใช้วัคซีนคุมกำเนิดในช้างบ้าน ก่อนจะขยายผลไปสู่การทดสอบในช้างป่า ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด จะต้องมีการศึกษาจำนวนและโครงสร้างประชากรช้างป่าในพื้นที่อย่างชัดเจนก่อนดำเนินการ.