สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ว่า ต้นไม้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรม หรือการปลูกต้นกล้าเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ล้วนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

แต่การศึกษาในวารสาร Nature Communications ระบุว่า ในบางกรณี ต้นไม้จำนวนมากทำให้แสงอาทิตย์สะท้อนกลับจากพื้นผิวโลกได้น้อยลง ส่งผลให้โลกดูดซับความร้อนมากกว่าเดิม

“การปลูกต้นไม้ในสถานที่บางแห่ง นำไปสู่ผลลัพธ์เชิงลบด้านสภาพอากาศ” นางซูซาน คุก-แพตตัน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านการฟื้นฟูป่า และผู้เขียนร่วมของการศึกษา จากองค์กร “เดอะ เนเจอร์ คอนเซอร์แวนซี” กล่าว

อันที่จริง บรรดานักวิทยาศาสตร์เข้าใจอยู่แล้วว่า การฟื้นฟูพื้นที่ป่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ “อัลบีโด” หรือปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ที่สะท้อนจากพื้นผิวโลก แต่พวกเขาไม่มีเครื่องมือที่สามารถอธิบายสิ่งนี้ได้

กระนั้น กลุ่มนักวิจัยที่ใช้แผนที่ใหม่ สามารถพิจารณาการลดความร้อนจากต้นไม้ และความร้อนที่เกิดจากอัลบีโดที่ลดลง “ได้เป็นครั้งแรก” โดยพวกเขาพบว่า โครงการปลูกป่าหลายโครงการ ซึ่งไม่ได้นำอัลบีโดมารวมในสมการ ประเมินค่าประโยชน์ทางสภาพอากาศของการปลูกต้นไม้เพิ่มเติมสูงเกินไป 20-80%

“มันยังมีสถานที่อีกหลายแห่ง ที่การฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ เป็นแนวคิดที่ดีสำหรับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งพวกเราแค่พยายามช่วยใช้ผู้คนพบสถานที่เหล่านั้น” คุก-แพตตัน กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การศึกษาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า หลายประเทศมีความตั้งใจที่จะปลูกต้นไม้หลายพันล้านต้น เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน แต่ไม่ใช่ว่า ทุกความพยายามจะสร้างประโยชน์ให้กับโลกเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น สภาพแวดล้อมเขตร้อนชื้น เช่น ป่าแอมะซอน ซึ่งมีพื้นที่กักเก็บคาร์บอนสูง และมีการเปลี่ยนแปลงของอัลบีโดในระดับต่ำ เป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ป่า ตรงข้ามกับสภาพแวดล้อมในทุ่งหญ้าเขตอบอุ่น และทุ่งหญ้าสะวันนา.

เครดิตภาพ : AFP