เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เข้าสู่การพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

โดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า ในเรื่องนี้ตนเห็นว่ารัฐสภายังสามารถหาข้อยุติในเรื่องนี้ได้ด้วยกลไกของรัฐสภาเอง เช่น ปรึกษาหารือ แสดงความคิดเห็น หรือลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับดุลพินิจของประธานรัฐสภา เมื่อมีมติอย่างไร ประธานรัฐสภาก็คงดำเนินการไปตามนั้น เราตีความอำนาจตัวเองได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร ดังนั้น เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ต้องไปถามหรือขออนุญาตศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เรามีอำนาจอยู่แล้ว ตนและพรรคก้าวไกลไม่สนับสนุน เนื่องจากจะเป็นการเปิดช่องให้ศาลฯ วินิจฉัยขยายอำนาจของตัวเอง หรือบางครั้งก็ตีความรัฐธรรมนูญเกินบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

“ปัจจุบันเราปฏิบัติต่อศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะที่กำลังทำให้ศาลฯ กลายเป็นผู้ผูกขาดตีความรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียวไปแล้ว ศาลฯ กำลังกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง วินิจฉัยอย่างไรก็ได้ บางครั้งไปถามนักนิติศาสตร์ว่ามันตรงตามหลักกฎหมายหรือตรงตามรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย แล้วก็อาศัยอำนาจอ้าง รวมถึงประธานรัฐสภาก็อ้างว่าคำวินิจฉัยศาลฯ ผูกพันทุกองค์กร บีบให้สถาบันทางการเมืองอื่นสยบยอมทั้งสิ้น ยอมจำนนกันหมด ดังนั้นหากพวกเรายังมีส่วนร่วมในการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองแบบนี้ต่อไป ในอนาคตระบอบการเมืองที่ควรจะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นระบอบการเมืองที่ปกครองด้วยคำวินิจฉัยของศาลฯ ซึ่งเป็นระบอบอะไรก็ไม่รู้ การกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่สำคัญเท่ากับการกระทำตามที่ศาลฯ ชอบ ถือเป็นเรื่องใหญ่” นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า ตนและ สส.พรรคก้าวไกล จึงขอสงวนความเห็นในที่ประชุมรัฐสภาแห่งนี้ ด้วยการงดออกเสียงในญัตติดังกล่าว ไม่ใช่เพราะต้องการจะขัดขวางการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และไม่ใช่การขัดขวางญัตติของนายชูศักดิ์ และคณะ เพราะตนเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา ซึ่งมาจาก สส. ฝั่งรัฐบาล มากพออยู่แล้ว การที่เรางดออกเสียงครั้งนี้ เพื่อส่งเสียงเตือนให้รัฐสภาช่วยกันทบทวนแก้ไขระบบการเมืองในอนาคต เพื่อให้สถาบันการเมืองต่างๆ มีดุลยภาพ โดยมีอำนาจประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด.