สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ว่า วิทยุเอเชียเสรี (อาร์เอฟเอ) ซึ่งเป็นสื่ออิสระแต่ได้รับความสนับสนุนด้านเงินทุน จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ออกแถลงการณ์เรื่องการปิดสำนักงานในฮ่องกง “ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย” เกี่ยวเนื่องกับการที่ฮ่องกงบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่
ด้านคณะผู้บริการฮ่องกงยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่นายคริส ถัง รัฐมนตรีด้านกิจการความปลอดภัยของฮ่องกง เคยประณามอาร์เอฟเอว่า “ใส่ร้ายป้ายสี” ว่าหน่วยงานของฮ่องกงอาศัยอำนาจจากกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ พุ่งเป้าจัดการสื่อมวลชน และเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ “ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ” ที่ปลุกปั่นโดย “กองกำลังต่างชาติ”
Radio Free Asia on Friday announced it has closed its Hong Kong bureau, saying the city’s recently enacted national security law, also known as “Article 23,” has raised safety concerns for its reporters and staff members.https://t.co/XzyTfRrZNe
— Radio Free Asia (@RadioFreeAsia) March 29, 2024
ขณะที่นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ เสนอรายงานต่อสภาคองเกรส ว่าจีน “ผิดคำมั่นสัญญาอย่างต่อเนื่อง” ในการให้ฮ่องกงมีอำนาจปกครองตนเอง หลังได้รับเกาะแห่งนี้กลับคืน หลังสหราชอาณาจักรครบสัญญาเช่า 99 ปี เมื่อปี 2540 และรัฐบาลปักกิ่งอาจอาศัยกฎหมายนี้ “เดินหน้าภารกิจกดดันข้ามชาติ” ต่อผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทั้งที่อยู่ภายในฮ่องกง และต่างประเทศ
ทั้งนี้ อาร์เอฟเอ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2539 และให้บริการใน 9 ภาษาของเอเชีย เป็นสื่อจากต่างประเทศแห่งแรก ที่ปิดสำนักงานในฮ่องกง นับตั้งแต่กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
กฎหมายดังกล่าวเป็นที่รู้จักสำหรับชาวฮ่องกงว่า “กฎหมายมาตรา 23” จากการที่คณะผู้บริหารฮ่องกง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 ของเบสิก ลอว์ หรือกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง ที่ระบุว่า ฮ่องกงควรบัญญัติกฎหมายเป็นของตัวเอง เพื่อยับยั้งการกระทำการใดก็ตาม ที่เป็นการทรยศ การแยกตัว การยุยงปลุกปั่น และการโค่นล้มรัฐบาลปักกิ่ง
กฎหมายแบ่งฐานความผิดออกเป็น 5 ประการ ได้แก่ การก่อกบฏ การปลุกระดม การจารกรรมและการขโมยข้อมูลรัฐ การก่อวินาศกรรมเพื่อทำลายความมั่นคง และการแทรกแซงจากภายนอก มีบทลงโทษสูงสุด จำคุกตลอดชีวิตสำหรับ “การก่อวินาศกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ” ซึ่งรวมถึง การก่อกบฏและการปลุกระดม บทลงโทษจำคุกนานสูงสุด 20 ปี สำหรับการจารกรรม และบทลงโทษจำคุกนานสูงสุด 14 ปี เกี่ยวกับการแทรกแซงจากภายนอก.
เครดิตภาพ : AFP