เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 เม.ย. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติประจำประเทศไทย กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย พร้อมด้วยพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเซียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียแปซิฟิก (ESCAP) คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (The Success of Thailand’s Waste Bank Partnership Initiative) โดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และสื่อมวลชน ร่วมในงาน

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการรวมตัวของ Partner หรือ “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ของเราอีกครั้งหนึ่ง เป็นการนำ Soft Power สู่ Hard Power ด้วยพลังของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ซึ่งเราได้ร่วมกันทำสิ่งหนึ่งที่สำคัญ จนประสบความสำเร็จ คือ “การจัดตั้งธนาคารขยะครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี และตนขอย้ำว่า “ความสำเร็จนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย หากปราศจากความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันโลกของเราไม่เพียงแต่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “สภาวะโลกร้อน” แต่ความรุนแรงของปัญหานี้ได้ยกระดับไปถึงขั้น “โลกเดือด และหายนะทางสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งในฐานะที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก เราไม่นิ่งนอนใจ เราได้สร้างความร่วมมือกับ UN และ ทส. เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของประเทศไทย คือ “การไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050” และ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065”

นายอนุทิน กล่าวว่า ในปีนี้เราจึงได้ขับเคลื่อนอีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญ คือ “การจัดตั้งธนาคารขยะให้ครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เพื่อนำขยะที่สามารถใช้ประโยชน์ได้กลับไปสู่กระบวนการใช้ประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง นี่คือการ “ลดปริมาณภูเขาขยะ” ขนาดใหญ่ในประเทศที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และยัง “สามารถสร้างรายได้ สร้างสวัสดิการ” ให้แก่พี่น้องประชาชนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อน SDGs ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยสิ่งที่สำคัญของกระบวนการบริหารจัดการขยะ คือ “การจัดการขยะต้นทาง” ที่จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการจัดการขยะของประเทศ และนำสู่การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้ และต้องอาศัย “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ในชุมชน ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายในระดับต่าง ๆ ของรัฐบาลและจะต้องมีความต่อเนื่องจึงจะเกิดความยั่งยืน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นผู้นำ และผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ตามที่ทุกท่านได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อองค์การสหประชาชาติ ณ ที่แห่งนี้ไว้ว่า “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ UN และ ทส. รวมถึงสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการจัดตั้ง “ธนาคารขยะ” ครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนสำเร็จ และกระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันเพื่อต่อยอดภารกิจสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ด้านพล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ทส. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันปัญหาขยะเป็นวิกฤตสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นวิกฤตโลกที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังนั้น การขับเคลื่อนธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นก้าวสำคัญไปสู่การลงมือทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนได้รับประโยชน์ร่วมกัน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ครบวงจรและยั่งยืน และจะเป็นประโยชน์กับสาธารณชนและทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเซียบานา กล่าวว่า UN มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนร่วมกับประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ไปลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค ซึ่งเห็นความสำเร็จได้จาก อบต.โก่งธนู เราได้ไปเยี่ยมชมชาวบ้านและได้เรียนรู้การบริหารจัดการขยะในระดับท้องถิ่น ซึ่งชุมชนต่างมีการบริหารจัดการขยะได้ดีมาก มีการจัดตั้งธนาคารขยะ มีการจัดทำปุ๋ยอินทรีย์จากการถังขยะเปียกลดโลกร้อน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำมาซึ่งการคิดคำนวณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการสนับสนุนจาก ธ.กสิกรไทยในรับซื้อคาร์บอนเครดิต อันเป็นตัวอย่างของการที่ประเทศไทยมุ่งมั่นนำแนวทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาใช้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำถึงการใช้กฎหมายเพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องร่วมกันบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เริ่มจากที่ตัวเราและครัวเรือน หาก 14 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยทำได้ ก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 1.87 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ธนาคารขยะจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เราทุกคนได้รับประโยชน์ โดย UN พร้อมที่จะสนับสนุนและขับเคลื่อนร่วมกับประเทศไทย เพื่อให้บรรลุความสำเร็จตาม SDGs

คุณกีตาร์ ซับบระวาล กล่าวว่า วันนี้เป็นการประกาศความสำเร็จของการขับเคลื่อน SDGs โดยเฉพาะการบริหารจัดการขยะตามเป้าหมาย SDGs ซึ่งผู้นำที่มาในวันนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด จึงขอขอบคุณทุกท่านที่ทำงานอย่างเข้มแข็งตลอดมา โดย UN ตระหนักยิ่ง และพร้อมจะร่วมมือขยายผลสิ่งที่ดีให้ทุกชุมชนได้รับประโยชน์จากการการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม นำขยะเปลี่ยนเป็นมูลค่าหมุนเวียนกลับไปพัฒนาชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งเงินทุน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้เทคโนโลยีคิดคำนวณคาร์บอนเครดิต ทางสถาบันการเงินระหว่างประเทศจะสามารถสนับสนุน และหวังว่าเราจะประสานความร่วมมือเป็นภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ร่วมกันทำให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป

นายสุทธิพงษ์  ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม โดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ 17 “Partnership” ที่ถือเป็นกลไกการทำงานที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ ความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะ รวมถึงความสำเร็จของการมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนในทุกครัวเรือน ปัจจุบันเราได้จำหน่ายคาร์บอนเครดิตแล้วกว่า 2.5 ล้านบาท โดยมี UN ประจำประเทศไทยเป็นกำลังใจให้เราชาวมหาดไทย ขับเคลื่อนโดยนำต้นแบบของการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ไปสู่การจัดตั้งธนาคารขยะ ในจำนวน 7,849 อปท. ปัจจุบันเราสามารถจัดตั้งธนาคารขยะ 14,658 แห่ง ครบทุก อปท. ทำให้ทุกหมู่บ้านใน 878 อำเภอ 76 จังหวัดมีตัวอย่างที่ดี “Best Practice” ขยายผลไปสู่หมู่บ้านครัวเรือนเพิ่มเติม นับจากนี้อีก 6 ปี เราคาดว่าเงินรายได้จากขยะรีไซเคิล จะเกิดขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรียกได้ว่าเราได้เข้าสู่ Circular Economy ภายใต้การขับเคลื่อนของชาวมหาดไทย.