เมื่อวันที่ 2 ต.ค. นายสันต์ สร้อยแสง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ ระบายในอัตรา 2,766 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำและคลองธรรมชาตินอกคันกั้นน้ำชลประทาน ได้รับผลกระทบทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งจากแม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล ท่วมบริเวณบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย เพิ่มเป็น 8 อำเภอ 95 ตำบล 1 ชุมชน 18,812 ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ (1 ต.ค.64) 2,843 ครัวเรือน

ส่วนวัดที่ได้รับผลกระทบ มี 2 อำเภอ คืออำเภอเสนา และบางไทร รวม 16 วัด น้ำได้ไหลท่วมพื้นที่วัดทั้งหมด โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตั้งกระสอบทรายเป็นพนังกั้นน้ำ ขณะที่ ในเกาะเมืองล่าสุดมีการตั้งคันดินป้องกัน โดยนำเครื่องจักรปั้นคันดินบริเวณหน้าเจดีย์พระศรีสุริโยทัย สูง 1.50 เมตร หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนต่างๆ รอบเกาะเมือง

ทั้งนี้ เพื่อรักษาพื้นที่เกาะเมืองไม่ให้น้ำล้นตลิ่งเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจและโบราณสถานสำคัญ รวมถึง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังทุกประตูระบายน้ำ หากเกิดภาวะฉุกเฉินจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมเครื่องสูบน้ำเข้าดำเนินการติดตั้งทันที หรือหากบางจุดที่มีน้ำท่วมถนนภายในเกาะเมือง เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาจะตั้งคันดินป้องกันทันที

สำหรับประเด็นชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันประท้วงและร้องขอให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช เปิดประตูระบายน้ำบางกุ้งเพิ่มเติมจากเดิม 50 ซม. เป็น 80 ซม. หลังพบว่าแก้มลิงในโครงการนั้นแห้งสนิทไม่ได้ช่วยรองรับน้ำนั้น จนทำให้พื้นที่ใน ต.บ้านกุ่ม ประสบปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายหลายร้อยหลังคาเรือน และระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ขณะนี้ทาง ปลัดอำเภอบางบาลฝ่ายความมั่นคง ได้เปิดประตูระบายน้ำตามที่ชาวบ้านต้องการแล้ว.

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา