กางไทม์ไลน์การเมืองออกมาให้เห็นกันชัดๆ ด้วยคำพูดของ “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่แจกแจงกลางวงประชุมครม. เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อให้สาระสำคัญสอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการทูลเกล้าฯ ไปแล้ว

โดยขณะนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดทำร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กกต. จะมีการนำไปรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะเสนอมาให้ ครม.ให้ความเห็นชอบประมาณช่วงเดือน ธ.ค.2564 จากนั้นจะมีการส่งไปให้สภาพิจารณาประมาณช่วงเดือน ม.ค.2565 ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาวาระ 1 และ 2 เสร็จแล้วในเดือน มี.ค.2565 จากนั้นสภาจะต้องส่งให้ กกต.ตรวจสอบรายละเอียด โดยคาดการณ์ว่า ในช่วงเดือน เม.ย.2565 อาจจะต้องเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อแก้ไขรายละเอียดตามที่ กกต.เสนอกลับมาและลงมติวาระ 3 โดยจะใช้เวลาประมาณ 25 วัน ก่อนส่งร่างกฎหมายให้รัฐบาลเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เว้นแต่จะมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยที่จะต้องรออีก 1 เดือน และเมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ร่างกฎหมายจะอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือน ก.ค.2565 ซึ่งก็จะเป็นช่วงรัฐบาลใกล้ครบวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี เดือน มี.ค. 2566 ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 167 ประกอบมาตรา 99

ซึ่งก็ถือเป็นการการันตีว่า งานนี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สามารถ “อยู่ยาว” ได้จนถึงปี 2565

แต่กลับไม่มีใครเชื่อว่า “บิ๊กตู่” จะสามารถอยู่ยาวได้ถึงขนาดนั้น แม้กระทั่งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลเอง เพราะต่างฝ่ายต่างพากันแทงหวยว่า “สนามเลือกตั้ง” มีโอกาสจะเปิดเร็วๆนี้ จึงทำให้ช่วงที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่างๆมีความเคลื่อนไหวคึกคักเป็นพิเศษ ทั้งการแข่งกันโชว์ แข่งกันดราม่า ไล่ตั้งแต่ พรรคพลังประชารัฐ จากปรากฏการณ์แยกกันลงพื้นที่ของ “น้องตู่” กับ “พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จนทำให้ถูกจับตามองว่าเป็นการวัดกำลังทางการเมือง หรือกรณีที่ “ผู้กองธรรมนัส” ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่โชว์ภาพลุยน้ำท่วม

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีการลงพื้นที่หลายจังหวัดพร้อมเปิดตัวผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรค ที่ฮือฮาที่สุดหนีไม่พ้น “เมธี อรุณ” นักร้องดัง วงลาบานูน ที่สวมแจ๊กเกตประชาธิปัตย์ ในนามว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดนราธิวาส ขณะที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีเรื่องให้หน้าบาน เพราะผลโพลสนับสนุนเหมาะที่จะเป็นนายกฯคนต่อไป ซึ่งมีคะแนนสูสีพอๆ กับ “บิ๊กตู่” ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ที่นำทัพโดย “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ก็มีการสั่งว่าที่ผู้สมัคร และ ส.ส. ของพรรค ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมย้ำว่า “เรื่องการยุบสภานายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจ แต่การเลือกตั้งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่จะต้องมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็ต้องเตรียมความพร้อมและทำให้ดีที่สุด”

แม้แต่ละพรรคจะเริ่มโชว์ความพร้อมในการสู้ศึกเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวต่างก็มีรอยร้าวภายใน ที่จะกลายเป็นแรงเสียดทานในอนาคต ทั้งในส่วนของ พรรคพลังประชารัฐ กับปัญหาที่แก้ไม่ตก โดยเฉพาะ “เกมร้อนเกมร้าย” ระหว่าง “บิ๊กตู่-ผู้กองธรรมนัส” ที่ยังไม่สงบลงง่ายๆ แม้ที่ผ่านมาจะใช้เวลาประสานใจ แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีกาวยี่ห้อไหนจะมาต่อติดรอยร้าวที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิดภาพการต่อสู้ ขับเคี่ยวกันภายในพรรคต่อไป

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ สถานการณ์ภายในเริ่มคุกรุ่น หลังจาก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรค ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเตือนทำนองว่า วันนี้คนในพรรคประชาธิปัตย์ไม่รู้จักคำว่าให้เกียรติกันแล้ว ซึ่งเบื้องลึกเบื้องหลังเรื่องนี้มาจาการจัดตัวผู้สมัคร ส.ส. ลงในพื้นที่ จังหวัดพัทลุง ที่มีการนำคนใหม่ เข้ามาเบียดพื้นที่ของอดีต ส.ส.รายนี้ แบบไม่ได้แจ้งให้เจ้าตัวรู้ จนถึงกับประกาศกลางวงหารือว่า “ในเมื่อไม่ให้เกียรติกัน เหมือนกับพรรคไล่ผม ไม่ใช่ผมไม่เอาพรรค และถ้าผมจะไปที่อื่นผมก็มีความชอบธรรม” ซึ่งงานนี้ก็คงจะทำเอาเดือดร้อนไปถึง “หลวงพ่อชวน” ชวน หลีกภัย ที่ถือเป็นยาสามัญประจำบ้านของพรรคประชาธิปัตย์ จะสามารถสยบรอยร้าวที่เกิดขึ้นนี้ได้หรือไม่

ซึ่งปัญหาภายใน พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้มีแค่จุดนี้จุดเดียว แต่มีอีกหลายพื้นที่ โดยมีการเม้าท์มอยกันในพรรคว่า กลุ่มไหนที่เป็นกลุ่มอำนาจเก่าของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ก็จะถูกตอนไม่ให้มีที่ยืนในสนามเลือกตั้ง ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไป  นอกจากนั้นยังมีกระแสข่าวแว่วมาว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจจะกลับมาสู่เส้นทางการเมืองอีกครั้ง โดยอาจจะมีการตั้งพรรคใหม่หากข่าวนี้เป็นเรื่องจริง กลุ่มก๊วนในพรรคประชาธิปัตย์บางกลุ่ม อาจจะพร้อมตบเท้าออกจากบ้านเก่า ไปร่วมหอลงโรงกับอภิสิทธิ์แทน ซึ่งหากเป็นไปตามโจทย์นี้เกมการเมืองหลังจากนี้จะยิ่งร้อนแรงมากยิ่งขึ้น

ปรับโฟกัสมาที่เกมในสภา ที่จะมีการ “เปิดเทอม” ประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 ที่กำลังจะเปิดในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ก็จะเห็นได้ชัดว่ามีแรงเสียดทานที่รออยู่ โดยจะมีกฎหมายสำคัญที่จะถูกนำเข้าพิจารณาในสภา ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่า “บิ๊กตู่” สามารถเก็บแต้มบุญในสภา ฟื้นศรัทธาจากกลุ่ม ส.ส.ได้ขนาดไหน แต่ดูแล้วงานนี้ “บิ๊กตู่” เองก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ ถึงขนาดที่ต้องกำชับให้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคกำชับ ส.ส. อย่าขาดประชุมโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายสำคัญที่ค้างอยู่ในสภา และจะถูกนำขึ้นมาพิจารณาหลังจากเปิดสภา ก็คือ กฎหมายการปฏิรูปประเทศ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะครบกำหนด 5 ปีในเดือน เม.ย. 2565 หากงานนี้การทำกฎหมายดังกล่าวไม่แล้วเสร็จ อาจจะมีปัญหาเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งกระทบต่อรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เกมการเมืองในสภาฯ ขณะนี้เหมือนต่างฝ่ายต่างถือมีดคนละเล่ม พร้อมที่จะแทงข้างหลัง หักหลัง โค่นอำนาจกันได้ตลอดเวลา เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะเกิดอุบัติเหตุการเมืองในสภาฯ ให้เห็นหรือไม่!

อีกเรื่องที่น่าจับตามองไม่แพ้กันคือ “ไพบูลย์โมเดล” จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) จากกรณียุบพรรคประชาชนปฏิรูป แล้วเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

งานนี้กลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานการเมืองใหม่ และเป็นโอกาสให้บรรดาพรรคการเมืองขนาดเล็ก สามารถยุบพรรคตัวเองไปรวมกับพรรคใหม่ได้ทุกเมื่อ หรือพรรคการเมืองที่ต้องการสร้างเสถียรภาพ อำนาจต่อรองในสภามอกขึ้น สามารถดึง ส.ส.จากพรรคเล็กด้วยวิธีการนี้เข้าบวกเสียง ส.ส.ของพรรคได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย

ร้ายแรงที่สุดอาจถึงขั้นซ้ำรอยเผด็จการรัฐสภา! จากการควบรวมพรรคการเมืองในช่วงปี 2544-48 ซึ่งจะยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้การเมืองในสภาฯ มีแนวโน้มร้อนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก

ปิดท้ายกันด้วยความอกสั่นขวัญแขวนของประชาชนคนไทย จากโจทย์ท้าทายเรื่องการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้ ท่ามกลางความกังวลว่าจะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ “เชื้อไวรัสนรกโควิด-19” เข้ามาโจมตีคนในประเทศได้อีกระลอก ซ้ำร้ายประชาชนคนตาดำๆ ยังต้องเจอกับสารพัดปัญหา ทั้งน้ำมันแพง การเตรียมขึ้นค่าทางด่วน ปัญหาน้ำท่วม รวมไปถึงปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ดูดเงิน

ปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นความทุกข์ระทมของประชาชนที่ รอให้ “บิ๊กตู่” ก้าวข้ามเกมการเมือง เข้ามาแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง…เห็นปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนมากกว่าปัญหาของตัวเอง.