รายงานกรณีในวารสารด้านกุมารศัลยศาสตร์ ( Journal of Pediatric Surgery Case Reports ) เผยแพร่ กรณีศึกษา เกี่ยวกับทารกเพศชายคนหนึ่ง ซึ่งเกิดเมื่อเดือน ม.ค.ปีนี้ ที่โรงพยาบาลเด็ก อัลเบิร์ต ซาบิน ที่เมืองฟอร์ตาเลซา ในบราซิล แม้คลอดก่อนกำหนดเล็กน้อย แต่สุขภาพร่างกายของมารดาและทารกแข็งแรงดีในภาพรวม ยกเว้นการที่หนูน้อยเกิดมา พร้อมหางความยาว 12 เซนติเมตร ยื่นออกมาจากกระดูกบริเวณทวารด้านซ้าย และที่ปลายหางยังมีก้อนเนื้อลักษณะคล้ายลูกบอลขนาดเล็กด้วย


ทั้งนี้ แพทย์ผ่าตัดนำหางดังกล่าวออกจากร่างกายของทารกอย่างปลอดภัย หลังสแกนอย่างละเอียดแล้วพบว่า หางนั้นไม่ได้เชื่อมต่อกับเซลล์ประสาท และองค์ประกอบส่วนใหญ่ของก้อนเนื้อที่ปลายหางเป็นไขมัน


อย่างไรก็ตาม กรณีของเด็กชายรายนี้ถือเป็นเพียง 1 ใน 40 กรณีเท่านั้น ซึ่งเคยมีการบันทึกอย่างเป็นทางการ ว่าเป็นมนุษย์ที่เกิดมาพร้อมหาง เนื่องจากแม้มีความเชื่อกันว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมหาง ในช่วง 4-8 สัปดาห์แรกที่กำลังเติบโตอยู่ในครรภ์มารดา อย่างไรก็ตาม กลไกการทำงานของร่างกายจะดูดหางนั้นกลับเข้าไป แต่กรณีของหนูน้อยคนนนี้ถือว่า “ยากมาก” ที่หางนั้นยังคงเติบโตและเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของทารก จนกระทั่งคลอดออกมา


รายงานของวารสารฉบับนี้ระบุต่อไปว่า กรณีว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมหางนั้น มีบันทึกย้อนหลังได้ถึงช่วงศตวรรษที่ 19 โดยทั่วไปจะมีขนาดเล็กมาก สาเหตุมาจากการอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณช่องท้อง เป็นเนื้องอกจากเซลล์ไขมัน และความบกพร่องบริเวณกระดูกไขสันหลัง และเส้นประสาทบริเวณไขสันหลัง โดยเฉพาะความผิดปกติแต่กำเนิด ทำให้การจัดเรียงตัวของกระดูกสันหลังและไขสันหลังไม่สมบูรณ์ เรียกว่า “โรคโรคสไปนา ไบฟิดา” ( Spina Bifida )


คณะผู้เชี่ยวชาญที่นำเสนอกรณีของเด็กชายชาวบราซิลรายนี้สรุปว่า การที่มนุษย์เกิดมาพร้อมหางเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ในทางการแพทย์ถือเป็น “ความผิดปกติที่หาได้ยากมาก” บิดามารดาหรือผู้ปกครองควรปรึกษาอย่างใกล้ชิดกับกุมารแพทย์และศัลยแพทย์ หากพบบุตรหลานมีอาการลักษณะนี้.

ข้อมูลและภาพจาก : Journal of Pediatric Surgery Case Reports