นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะติดตามผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการเยียวยาที่จะออกมาว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร ซึ่งต้องดูตามสถานการณ์เป็นหลัก และติดตามโควิดสายพันธุ์เดลต้าว่าจะรุนแรงมากเพียงใด โดยในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.64 ที่ผ่านมาได้หารือกันค่อนข้างมาก เพราะจะเป็นความเสี่ยงหากควบคุมการระบาดได้ช้า จะทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้าออกไป และกระทบการเปิดประเทศให้ต้องเลื่อนไปด้วย

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในปัจจุบันมีความเสี่ยงซับซ้อน ต้องติดตามการกลายพันธุ์ของโควิดเดลต้า หากรุนแรงยืดเยื้อจะกระทบกับประมาณการเศรษฐกิจที่ปัจจุบันคาดว่าปีนี้จีดีพีไทยจะขยายตัว 1.8% ซึ่งกระทบต่อฐานะการเงินของครัวเรือน ความเปราะบางตลาดแรงงาน ทำให้ต้องมีมาตรการการคลัง นโยบายการเงินต่อเนื่อง เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูงมากในช่วงนี้ ซึ่ง ธปท.จะติดตามและรายงานผลใกล้ชิด โดยถ้ายืดเยื้ออาจมีโอกาสที่รัฐบาลจะใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.หมดทั้ง 5 แสนล้านบาท

“แรงงานภาคการผลิตรายได้ยังทรงตัว แต่หนี้ครัวเรือนเป็นภาระของครัวเรือนต้องที่ดูแล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของรายได้ โดยเฉพาะอาชีพอิสระมีปัญหามาก ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ และกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากนี้ และในช่วงที่ผ่านมาผลกระทบการระบาดและกลายพันธุ์ทำให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้า วัคซีนประสิทธิภาพอาจไม่ได้ตามคาดแล้ว ซึ่งกระทบการเปิดประเทศเลื่อนออกไปอีก รวมทั้งจากการล็อกดาวน์ครั้งนี้เพิ่มเติม ธปท.จะประเมินอีกครั้ง”

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ประเมิน 6 เดือนจากนี้เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงจำเป็นต้องเร่งเยียวยาและเติมรายได้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนแรงงาน หลังจากได้รับผลกระทบเยอะ เพราะถูกซ้ำเติมจากโควิดหลายระลอก ทำให้การฟื้นตัวเปราะบางสูง ซึ่งการเติมเงินมีความสำคัญสูงมากในระยะสั้นและจำเป็นในช่วงควบคุมการระบาดไม่ได้ ส่วนการเติมสภาพคล่องใหม่ของทางมาตรการทางการเงิน จะมีสินเชื่อฟื้นฟูเข้ามาที่ช่วยได้ในเรื่องการเติมเงิน

ขณะที่การลดภาระหนี้เดิมเป็นเรื่องที่สำคัญหลังจากนี้ที่จะต้องดำเนินการโดยเฉพาะครัวเรือน ตอนนี้เรื่องมาตรการทางการเงิน จะมีการปรัปรุงโครงสร้างหนี้ และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ที่จะเข้ามาช่วยส่วนนี้ได้ แต่ต้องเร่งกระจายสภาพคล่องให้ตรงจุด โดยหนี้หลังโควิดจะทำให้ครัวเรือนเปราะบางสูงขึ้น ในระยะสั้นการลดภาระหนี้คือทำให้เพิ่มรายได้ครัวเรือน ส่วนระยะยาว เป็นการส่งเสริมการออม ป้องกันการก่อหนี้เกินตัว

ทั้งนี้ สินเชื่อฟื้นฟู ธปท.อนุมัติแล้ว 66,898 ล้านบาท มีทั้งสิ้น 21,929 ราย ลงไปเอสเอ็มอีระดับไมโครเอสเอ็มอี หรือมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาท สัดส่วน 45% และลงไปสู่ต่างจังหวัดสูง 68% ส่วนใหญ่เป็นประเภทอุตสาหกรรมเกี่ยวกับพาณิชยการและบริการ 67% ขณะที่พักทรัพย์พักหนี้ขณะนี้มีเข้าโครงการแล้ว 12 ราย คิดเป็นกว่า 900 ล้านบาท