เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 1, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ผู้ถูกร้องที่ 2, นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 3, นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 4 และ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ผู้ถูกร้องที่ 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96(2) หรือไม่ จากเหตุต้องคำพิพากษาศาลอาญาจำคุกในคดีชุมนุม กปปส. ปี 2557

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) บัญญัติว่าสมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98 (4) เป็นบุคคลผู้มีลักษระต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คืออยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และมาตรา 98 (6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญกำหนด เนื่องจาก ส.ส.ทำหน้าที่นิติบัญญัติ จึงต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีการกระทำผิดมัวหมอง อีกทั้งมาตรา 96 และ 98 บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าการทำผิดอาญาของผู้ถูกร้องที่ 1-5 มาจาการชุมนุมแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยรับรองว่าเป็นการแสดงออกเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญนั้น เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองการกระทำผิดตามกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นไว้ข้อโต้แย้งนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่แย้งว่าการที่ศาลอาญาไม่ปล่อยตัวชั่วคราวไม่ใช่การสั่งจำคุกนั้นฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 98(6) ต้องถูกคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้นั้น ฟังไม่ขึ้น ส่วนเรื่องความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภาในสมัยประชุมที่ไม่อาจถูกจับคุมขัง หรือขัดขวางต่อการปฏิบัติสมาชิกรัฐสภาผู้นั้นจะมาประชุมสภานั้น เป็นการให้ความคุ้มกันระหว่างการพิจารณาคดี แต่กรณีดังกล่าวคดีสิ้นสุดแล้วข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อโต้แย้งที่อ้างว่าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(6) เป็นลักษณะต้องห้ามที่ใช้ก่อนการรับสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น เห็นว่าหาก ส.ส.มีลักษณะต้องห้ามตามมาตราดังกล่าว ย่อมเป็นเหตุให้ ส.ส.สิ้นสุดลงได้ ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

อาศัยเหตุผลข้างต้นวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 1, 3, 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(4) ประกอบมาตรา 96(2) สมาชิกภาพของผู้ถูกร้องที่ 2 และ 4 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 101(6) ประกอบมาตรา 98(6) นับตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือวันที่ 7 เม.ย.2564 และให้ถือว่าวันที่ตำแหน่ง ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 1-4 ว่างลงคือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย คือวันที่ 8 ธ.ค.2564.