สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ว่า นายโยชิฮิสะ ฟุรุคาวะ รมว.ยุติธรรมของญี่ปุ่น แถลงยืนยันการเป็นผู้ลงนามในคำสั่งให้สำนักงานราชทัณฑ์แห่งชาติ นำนักโทษประหาร 3 คน เข้าสู่กระบวนการ เมื่อช่วงเช้าของวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น เนื่องจากสิ่งที่บุคคลทั้งสามได้กระทำนั้น “ร้ายแรงและโหดเหี้ยม” บทลงโทษที่ได้รับนั้น “จึงเหมาะสมแล้ว”


เกี่ยวกับการที่ผู้คุมนักโทษประหารแจ้งกำหนดการล่วงหน้า “เพียงไม่กี่ชั่วโมง” เพื่อให้อีกฝ่ายเตรียมตัว เรียกเสียงวิจารณ์อย่างหนักมาตลอดจากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งว่า “เลือดเย็นและโหดร้าย” ฟุรุคาวะ กล่าวว่า หากแจ้งให้ทราบล่วงหน้า “นานกว่านั้น” น่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของนักโทษ “ร้ายแรงมากกว่า”


ขณะที่ นายเซจิ คิฮาระ รองเลชาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกเลิกบทลงโทษประหารชีวิต ท่ามกลางสภาพสังคมที่ยังคงมีคดีอาชญากรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ไม่เหมาะสมนัก” เมื่อคำนึงถึงความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญเสียร่วมด้วย และรัฐบาลเชื่อว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองบทลงโทษเด็ดขาดลักษณะนี้ “เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้” สำหรับผู้ที่ก่ออาชญากรรม ซึ่งสร้างความสูญเสียอย่างร้ายแรงเช่นนี้


ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีนักโทษรอการประหารอีกอย่างน้อย 107 คน ทุกคนถูกคุมขังเดี่ยวในเรือนจำที่แยกต่างหากจากนักโทษทั่วไป และขั้นตอนการประหารชีวิตเป็นเรื่องที่รัฐบาลญี่ปุ่นเก็บเป็นความลับมาตลอด โดยเปิดเผยเพียงว่า ใช้วิธีแขวนคอ และนักโทษรู้ตัวล่วงหน้าไม่นาน


สำหรับนักโทษ 3 คนที่ถูกประหารครั้งนี้ นายยาสึทากะ ฟุจิชิโระ อายุ 65 ปี ก่อคดีสังหารญาติของตัวเอง 7 ราย ที่จังหวัดเฮียวโงะ เมื่อปี 2547 และนายโทโมอากิ ทาคาเนซาวะ อายุ 54 ปี และนายมิตสึโนริ โอโนกาวะ อายุ 44 ปี ทั้งสองคนร่วมกันก่อเหตุฆาตกรรม พนักงานร้านปาจิงโกะ 2 ราย ในท้องที่ของจังหวัดกุนมะ เมื่อปี 2546 โดยการประหารชีวิตนักโทษทั้งสามคน เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 และเป็นครั้งแรกในสมัยของนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ซึ่งรับตำแหน่ง เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES