จากกรณีผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยไซปรัส กล่าวถึงการค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์แบบลูกผสม ระหว่างเชื้อเดลตา กับเชื้อโอมิครอน กลายเป็น “เดลตาครอน” โดยเป็นเชื้อโอมิครอนภายใต้จีโนมของสายพันธุ์เดลตา และมีการยืนยันผู้ติดเชื้อในไซปรัสแล้ว 25 คนนั้น


พญ.ครูติกา คุปปาลี หนึ่งในคณะทำงานด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เดลตาครอนไม่มีอยู่จริง” แต่น่าจะเป็นผลจากการปนเปื้อนระหว่างตัวอย่างของเชื้อเดลตากับเชื้อโอมิครอน ส่งผลให้การถอดรหัสพันธุกรรมผิดพลาด


เช่นเดียวกัน ศ.ทอม พีค็อก ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า เป็นการปนเปื้อนระหว่างเชื้อเดลตากับเชื้อโอมิครอน และให้ความเห็นเสริมด้วยว่า หากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมจริง ผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 25 คนที่มีการยืนยันตามรายงานนั้น ควรอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน ไม่ใช่กระจายกันไปแบบนี้


อนึ่ง การค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนาพันธุ์ผสม ที่สรุปแล้ว “เป็นความสับสน” เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยย้อนกลับไปเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว รัฐบาลเวียดนามพบการกลายพันธุ์ “แบบลูกผสม” ของเชื้อไวรัสโคโรนาจากอินเดีย คือ เดลตา หรือ บี1617 กับเชื้อไวรัสโคโรนาจากสหราชอาณาจักร คือ อัลฟา หรือ บี117 โดยอธิบายว่า เป็นเชื้อเดลตาซึ่งมีลักษณะของการกลายพันธุ์ครั้งใหม่ ในรูปแบบเดียวกับการกลายพันธุ์ของเชื้ออัลฟา


อย่างไรก็ตาม นพ.ปาร์ค กี-ดง ผู้แทนดับเบิลยูเอชโอประจำเวียดนาม กล่าวว่า เชื้อไวรัสโคโรนาที่กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนามให้ข้อมูลไว้นั้น ไม่ใช่การกลายพันธุ์ซ้ำซ้อนของเชื้อไวรัสโคโรนาสองสายพันธุ์ หรือการรวมตัวทางพันธุกรรมระหว่างเชื้อสายพันธุ์ใด แต่ยังคงเป็น “เชื้อเดลตา”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES