เมื่อวันที่ 20 ม.ค. นายเศรษฐศิษฎ์ ณุวงศ์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ค.ร.อ.ท. ได้ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร  กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากบุคลากรอาชีวศึกษาขอความช่วยเหลือให้เป็นตัวแทน ได้เรียกร้องให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการแก้ไขเพื่อสร้างความเป็นธรรมในหมู่ข้าราชการ รวมถึงปกป้องชื่อเสียงของอาชีวศึกษา ที่ถูกบุคคลบางกลุ่มมาแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนในการสอบผู้บริหารฯ รวมถึงการแต่งตั้งกรรมการสภาสถาบัน ซึ่งขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสภาสถาบันการอาชีวศึกษาตาม ม.23(3) ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ ศธ 0614/239 ลว. 14 มกราคม 2565 และดำเนินการสรรหาใหม่ให้ถูกต้องและเป็นไปตามตามกฎกระทรวง เพราะประเด็นดังกล่าว ค.ร.อ.ท. ขอเรียนให้ทราบถึงเจตนาของการได้มาซึ่งกรรมการสภาสถาบัน ตาม พรบ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 มาตรา 23(3) และกฎกระทรวง และตามมาตรา 23 เจตนารมณ์ของการออกกฏหมายชื่อว่าต้องการให้ได้กรรมการที่มาในแต่ละข้อเพื่อให้ได้บุคคลที่มีที่มาแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพื่อให้เป็นพี่เลี้ยงและช่วยเหลือให้การขับเคลื่อนการพัฒนา เป็นไปตามเจตนารมณ์ พรบ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 หลักจากกรรมการสภาชุดที่ผ่านมาหมดวาระมานานกว่า 4 ปี เพิ่งจะมีการดำเนินการแต่งตั้ง กรรมการสภาสถาบันฯ ตามมาตรา 23(3) เมื่อ 14 มกราคม 2565 แต่การดำเนินการของ สอศ. ที่ประกาศรายชื่อตามที่ปรากฏถือว่าเป็นการจงใจที่ไม่ปฎิบัติให้เป็นไป ตามกฏกระทรวง ข้อ 2(3) ต้องมีคุณสมบัติมีความรู้มีประสบการณ์หลากหลายด้านและ (7) ไม่เป็นคู่สัญญากับสถาบันหรือสถานศึกษาในสังกัด นั่นย่อมแสดงให้เห็นเจตนาในการเลือกคนที่จะมาเป็นกรรมการสภาสถาบัน จะต้องเป็นคนนอกที่ไม่มีความผูกพันหรือมีส่วนได้เสียกับสถาบันนั้นๆ แต่สอศ.กลับแต่งตั้งผู้อำนวยการวิทยาลัยในสถาบันฯ ให้เป็นกรรมการตาม (3) ทั้ง ๆ ที่สภาสถาบันมีตัวแทนที่มาจากสถาบันโดยการคัดเลือกตาม (4) ซึ่งเจตนาของ ม.23 ต้องการให้ได้กรรมการที่มีที่มาที่หลากหลายเพื่อความเข้มแข็งของสถาบัน มีความรู้ความสามารถแต่ สอศ. กลับแต่งตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิดกระจายไปทุกสถาบัน สอศ. ได้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสภาได้ดำเนินการตามกฎกระทรวง ข้อ 3(1) และ ข้อ3(2) หรือไม่ เนื่องจากในประกาศสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเรื่อง รายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการฯ ประกาศเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ไม่มีการอ้างถึงคำสั่งที่มีการแต่งตั้งตาม ข้อ3(1) และ ข้อ 3 (2) ซึ่งต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามกฎกระทรวงข้อ 3 ถึงจำนวน 2 คณะ

นายเศรษฐศิษฎ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ขอให้มีการยกเลิกประกาศ อ.ก.ค.ศ.เกณฑ์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  เรื่องการรับสมัคร คัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 6 มกราคม 2565 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นข้อข้อบกพร่องการดำเนินการประกาศรับสมัครคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในครั้งนี้น่าจะมีความไม่โปร่งใสและไม่ยุติธรรมต่อผู้เข้าสอบคัดเลือกฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา เชื่อได้ว่าน่าจะไม่มีความยุติธรรมหรือมีช่องว่างให้มีการวิ่งเต้นหรืออาจการมีการซื้อขายตำแหน่งกันจริงตามที่มีข่าวตามสื่อ และจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยตรงโดยมีเหตุผลประกอบดังนี้ ในเมื่อ ก.ค.ศ. กำหนดให้ตำแหน่งรองผอ.สถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาซึ่งหมายถึงตำแหน่ง ผู้บริหารเหมือนกัน เหตุใดสอศ. จึงกำหนดเกณฑ์การพิจารณาตัดสินที่แตกต่างกัน เพราะเหตุใดการสอบรองผู้บริหาร สอศ. ในคราวเดียวกัน กำหนดผู้ที่มีสิทธิที่จะสอบภาค ข ค ได้ต้องผ่านภาค ก 60% (เป็นไปตามเกณฑ์ ที่หน่ายงานราชการทั่วไปกำหนด) แต่สอบผู้อำนวยการสถานศึกษา กำหนดเกณฑ์การผ่านคือ ภาก ก ภาค ข ภาค ค รวมได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 60% ถึงจะผ่านเกณฑ์ ทั้งๆ ที่เป็นตำแหน่งผู้บริหารเหมือนกัน

“การที่ สอศ. กำหนดคะแนนการสอบ ภาค ก 10 คะแนน ภาค ข 60 คะแนน ภาค ค (สัมภาษณ์) 30 คะแนน โดยกำหนดให้ผู้ผ่านภาค ก ภาค ข ภาค ค ต้องมีคะแนนรวม 60% ถึงจะผ่านเกณฑ์ น่าเชื่อว่าการกำหนดสัดส่วนการให้คะแนนภาค ข ข้อ 5 การคัดเลือก 5.2 ภาค ข ส่วนที่ 2 วิสัยทัศน์ และแนวทาง (20 คะแนน) การให้คะแนนจากกรรมการแต่ละคนไม่น่าจะมีความเห็นที่ตรงกันจึงทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้เข้าสอบ และที่น่าจะเป็นประเด็นที่น่าห่วงมากคือข้อ 5 การคัดเลือก 5.3 ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (30 คะแนน) โดยการสัมภาษณ์นั้น การให้คะแนนที่ใช้ดุลยพินิจความรู้สึกต่อผู้เข้าสอบย่อมมีผลต่อการให้คะแนน และถ้ามีกระบวนการที่ไม่ชอบมีส่วนเข้ามาชี้นำยิ่งจะทำให้เกิดความเสียเปรียบของผู้ที่เข้าสอบได้อย่างชัดเจน (เอื้อต่อการวิ่งเต้นและถูกแทรกแซงได้ง่าย) ถ้ามีการนำคะแนนข้อ 1.3.1 (20 คะแนน) บวกกับข้อ 1.3.2 (30) รวม 50 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนมากถึง 50 คะแนนของคะแนนทั้งหมด 100 คะแนน  จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าทำไมมีข่าวการซื้อขายวิ่งเต้นกันเกิดขึ้นตามมาแล้วทั้งที่ยังไม่เปิดรับสมัคร ถ้ากระบวนการจัดสอบลำดับได้กรรมการที่ขาดความระมัดระวังย่อมตกเป็นเหยื่อของกระบวนการซื้อขายได้โดยง่าย ซึ่งการทำแบบนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก” นายเศรษฐศิษฎ์  กล่าว