เมื่อเวลา 09.35 น. วันที่ 23 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและเห็นชอบให้เลื่อนประกาศเรื่องผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน (UCEP) ว่ากระทรวงสาธารณสุขนำเสนอหลักการนี้เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบสาธารณสุข การที่มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน หากมีความต้องการที่จะใช้เตียง หรือเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาลจะต้องมีความพร้อม แต่ ครม. มีสิทธิห่วงใย อย่าไปเข้าใจผิดว่ามีการตีกลับหรือตีตก และไม่ได้ยกเลิกข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพียงแต่ขอให้ไปพิจารณา และสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อป้องกันความสับสน และวันเดียวกันนี้ในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่จะพิจารณาเรื่องนี้ด้วย พร้อมกันนี้ ตนได้ยืนยันกับนายกรัฐมนตรีว่า การประกาศยกเลิก UCEP ไม่ใช่การที่กระทรวงสาธารณสุขจะประหยัดงบประมาณ เพราะมีงบประมาณเพียงพอ นายกฯ ไม่เคยมีแนวคิดจะตัดงบประมาณหรือประหยัดงบประมาณ เพราะการดูแลประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ 

เมื่อถามถึงแนวทางแก้ปัญหาสายด่วน 1330 ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่คู่สายไม่เพียงพอและประชาชนโทรไปไม่มีคนรับโทรศัพท์นั้น  นายอนุทินกล่าวว่าทาง สปสช. เร่งแก้ปัญหา และต้องเพิ่มคู่สายหรือเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ แต่ปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ จึงได้ประสานงานกับ กทม. เพื่อแก้ปัญหาแล้ว ยืนยันว่าในพื้นที่ กทม. มีเตียงเพียงพอ ต่างจังหวัดก็มีความพร้อมรองรับผู้ป่วย  ทั้งนี้ย้ำว่า พื้นที่กรุงเทพฯ กระทรวงสาธารณสุขมีภารกิจหลักในการสนับสนุนการทำงานของกรุงเทพฯ เท่านั้น กทม. เป็นเจ้าภาพหลัก การสั่งการหรือบริหารจัดการจะอยู่กับกรุงเทพฯ เป็นหลัก และกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ประสานการทำงานกับ กทม. ในทุก ๆ เรื่อง 

เมื่อถามว่าจะสามารถให้ความมั่นใจกับประชาชนได้หรือไม่ว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจะไม่เกิดปัญหาแบบเดิมอีก เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนกระทรวงสาธารณสุขกับ กทม. ไม่ได้ประสานงานกัน นายอนุทินกล่าวว่าได้ประสานงานกันมาตลอด ไม่ได้ขัดแย้ง และพร้อมสนับสนุนการทำงานของ กทม. ที่เป็นเจ้าภาพหลักเสมอ เมื่อ กทม. ร้องขอมาตามระบบ สาธารณสุขก็พร้อมสนับสนุนทันที เพียงแต่จะไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน  ส่วนต่อจากนี้จะไม่มีภาพคนป่วยนอนข้างถนนรอเตียงใช่หรือไม่นั้น ขอให้สอบถามทาง กทม. เอง เพราะสาธารณสุขเป็นเพียงผู้สนับสนุน

เมื่อถามต่อว่าวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงถึง 20,000 รายแล้ว จะเสนอมาตรการอะไรในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ นายอนุทินกล่าวว่า จะต้องควบคุมตัวเลขผู้เจ็บป่วยและผู้เสียชีวิต ไม่ให้เพิ่มขึ้นเหมือนกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ ขณะเดียวกันจะมีการยกเลิกการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อหรือไม่ ส่วนมีการเสนอว่าควรหยุดแจ้งตัวเลขผู้ติดเชื้อ เพราะเมื่อตัวเลขเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนวิตกกังวล นายอนุทินกล่าวว่าต้องอยู่กับความจริง ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่เคยแต่งตัวเลข หรือปิดบังความจริง ให้ข้อมูลที่เป็นความจริงกับประชาชนมาตลอดตั้งแต่วันแรก จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากนำเสนอความจริงเท่านั้น 

เมื่อถามอีกถึงกรณีที่จะมีการปรับลดวงเงินประกันของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นายอนุทิน กล่าวว่า กรมควบคุมโรคจะเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันเดียวกันนี้ เพื่อพิจารณาวงเงินประกันสุขภาพลดลงเหลือ 30,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ล้านบาท เพราะมีความเหมาะสม เพียงพอ และครอบคลุมในการรักษาพยาบาล โดยอ้างอิงจากค่ารักษาพยาบาลคนไทยที่ติดโควิดและรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 200,000 บาทต่อคน อีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกต่อทุกฝ่าย หากไปควบคุมจะทำให้ค่าเบี้ยประกันสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอีก ดังนั้นสิ่งใดที่ผู้ประกอบการร้องขอมาและสามารถทำได้ในแบบที่เหมาะสมก็จะดำเนินการให้ ทั้งนี้ยืนยันไม่กระทบต่องบประมาณของประเทศ

ทางด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ถึงความพร้อมการเตรียมสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อหลังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงมาก ว่าในช่วง 10 วันที่ผ่านมา จำนวนเฉลี่ยผู้ติดเชื้อใน กทม. อยู่ที่ประมาณ 3,000 คน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้สั่งการตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาว่าให้เพิ่มศูนย์รองรับ ซึ่งขณะนี้ศูนย์พักคอยที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มี 100% ตอนนี้ใช้ไปประมาณ 60% เหลือ 40% ตนจึงให้ไปเพิ่มอีก 50% เพื่อทดแทนส่วนที่ใช้ไป ทั้งนี้ขอยืนยันว่าศูนย์พักคอยของ กทม. มีพอแน่นอน  ขณะที่ส่วนของโรงพยาบาลมีค่อนข้างเหลือน้อย แต่ยังไม่น่าหนักใจ เนื่องจากเป็นผู้ป่วยสีเขียวจำนวนมาก มีอาการไม่รุนแรง แต่ก็ต้องตรวจตลอดเพื่อความไม่ประมาท

ผู้สื่อข่าวถามว่าโรงพยาบาลสังกัด กทม. สามารถแบ่งเตียงได้อีกหรือไม่ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า เขาพยายามแบ่งเตียงและพยายามทำห้องโมดูลาร์ ไอซียู (Modular ICU) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการรุนแรง (สีแดง) อาทิ ที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์มีภาคเอกชนมาช่วยทำห้องโมดูลาร์ ไอซียู ทำให้สามารถรองรับผู้ป่วยอาการสีแดงได้ 40 เตียง

เมื่อถามว่าขณะนี้มีภาพปรากฏว่ามีผู้ป่วยในกรุงเทพฯ จำนวนมากที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่าไม่มี ผู้ป่วยสามารถโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือได้ เพราะศูนย์เอราวัณของ กทม. มีรถรับ-ส่ง แต่ต้องยอมรับว่าในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการสีเขียวบางคนไม่ยอมไปอยู่โรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยชุมชน แต่อยากไปโรงพยาบาลหรือรักษาตัวที่โรงแรม เพราะสะดวกสบายกว่า ซึ่งตนเข้าใจ เพราะทุกคนไม่อยากลำบาก แต่เขาก็ต้องเข้าใจและต้องช่วยกัน ถ้ามีอาการไม่หนัก รักษาตัวที่บ้านก็ได้ และจะมีบุคลากรทางการแพทย์คอยส่งยาให้ที่บ้าน ตนยืนยันว่าเราดูแลอย่างทั่วถึง